ควบ “ทรู-ดีแทค” เกมแห่งความกลัว

ควบ “ทรู-ดีแทค” เกมแห่งความกลัว

ความกลัวเรื่องของเทคโนโลยีที่จะมาดิสรัปทุกธุรกิจ ลามไปถึงกลุ่มธุรกิจค่ายมือถืออย่าง "ทรู" และ "ดีแทค" ที่จำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เนื่องจาก 5จี, เอไอ, ไอโอที, คลาวด์ จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจโทรคมนาคมของทุกบริษัททั่วโลก

เป็นเรื่องดีทางธุรกิจที่สองบริษัทมือถือตัดสินใจควบธุรกิจ เพื่อความแข็งแกร่ง และสามารถสู้กับคู่แข่งสำคัญอย่าง แอดวานซ์ ได้ แต่จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหนนั้น ยังมีคำถามเรื่องการผูกขาดอำนาจเหนือตลาด เพราะสังคมที่ผูกขาด ประชาชนผู้บริโภคมักไม่ได้รับประโยชน์

ดังนั้นสิ่งที่ทั้งสองบริษัทดำเนินการเนื่องจาก “ความกลัว” ที่หากไม่ทำอะไรสักอย่าง จะกระทบอย่างใหญ่หลวงในอนาคต เพราะความสำเร็จในวันนี้ ไม่ใช่คำตอบในวันข้างหน้า และคำตอบในวันหน้าต้องเริ่มคิดและทำตั้งแต่วันนี้ 

ความกลัว ซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ สะท้อนออกมาชัดเจนว่า การดำเนินธุรกิจจากนี้ไปหรือ 20 ปีข้างหน้า จะแตกต่างจากเดิมมาก

เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5จี เอไอ ไอโอที คลาวด์ จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่บริษัทแต่จะเป็นกับทุกบริษัททั่วโลก เป็นการปฏิวัติเชิงเทคโนโลยี ทำให้บริษัทจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทรู เพื่อเตรียมพร้อมก้าวไปสู่ในอีก 20 ปีข้างหน้า และต้องทำในสิ่งที่ต่างจากเดิมที่ทำมาในอดีต 

 

ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ จะสามารถทำให้ผู้บริโภคชาวไทยเข้าถึงดิจิทัลได้ง่ายขึ้น

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการกลุ่มทรู มองในทิศทางที่คล้ายกัน เพราะเห็นว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ได้เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค

โดยโทรคมนาคมจะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี

 

ความกลัวเรื่องของเทคโนโลยีที่จะดิสรัปทุกธุรกิจ กลุ่มค่ายมือถือก็จำเป็นต้องปรับตัวครั้งสำคัญ บวกกับทำองค์กรให้ตัวเบา ภาระหนี้ลดลง การลงทุนอะไรที่ซ้ำซ้อน เมื่อควบรวมกันแล้ว จะช่วยลดลงได้พอควร

แต่สิ่งที่น่ากลัวและเป็นตัวเร่งให้ต้องคิดถึงการควบรวม เนื่องจากความแข็งแกร่ง ของเบอร์หนึ่งอย่าง “แอดวานซ์” เมื่อได้ผู้ถือหุ้นใหญ่ “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” มาถือในบริษัทแม่ “อินทัช” เพราะมองว่าเบอร์หนึ่งจะเล่นเกมรุกมากขึ้น

แถมโครงสร้างพื้นฐานคลื่น และฐานลูกค้า อยู่ในระดับสูงด้วยแล้ว เบอร์สองเบอร์สาม หากต่างคนต่างเล่นอาจจะยิ่งแย่ลงไปอีก จึงเป็นความกลัวที่เร่งปฏิกิริยาให้ต้องคิดการควบรวม ส่วนผลในทางปฏิบัติก็ต้องลุ้นไตรมาสสองปีหน้าว่าจะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่