สศช.เผยว่างงานไตรมาส3/64 พุ่ง 2.25% ชี้แนวโน้มดีขึ้นหากไม่มีระบาดขนาดใหญ่

สศช.เผยว่างงานไตรมาส3/64 พุ่ง 2.25% ชี้แนวโน้มดีขึ้นหากไม่มีระบาดขนาดใหญ่

สภาพัฒน์แถลงภาวะสังคมไตรมาส 3/64 ว่างงานสูงแตะ 2.25% สูงสุดนับจากมีวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ จากการล็อคดาวน์ในไตรมาส 3 ช่วงการระบาดแพร่หนัก พบผู้ว่างงานชั่วคราวถึง 9 แสนคน หนี้ครัวเรือนเพิ่มอีก 5% เลขาฯสศช.ชี้สถานการณ์ดีขึ้นหากไม่มีการระบาดเพิ่มเติม

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงภาวะสังคมไตรมาส 3/2564 ว่าสถานการณ์ด้านแรงงานไทยในไตรมาสที่ผ่านมามีอัตราว่างงาน 2.25% คิดเป็นจำนวนว่างงานประมาณ 8.7 แสนคน เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 และสูงที่สุดหลายปีนับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 โดยตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาด การล็อกดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

 สำหรับภาพรวมการของการจ้างงานในไตรมาสที่ 3/2564 พบว่าจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้นอยู่ที่ 37.7 ล้านคน ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาการจ้างงานที่ลดลงชัดเจนคือสาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลง9.3% สาขาการก่อสร้างลดลง 7.3% ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานที่ยังขยายตัวได้ดีได้แก่ภาคการผลิตขยายตัว 2.1% ภาคขนส่งและการเก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 4.6% 

ขณะเดียวกันยังมีการสำรวจพบว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 43.9%ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 44% และมีผู้ว่างงานชั่วคราวจากการสำรวจอยู่ที่ประมาณ 9 แสนคน (ผู้มีงานทำ 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

บางส่วนเป็นเพราะสถานประกอบการให้หยุดทำงานหรือหยุดกิจการชั่วคราวซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อนที่มีเพียง 4.7 แสนคนเท่านั้น

การว่างงาน ในไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและมีการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด แนวโน้มการว่างงานจะลดลงจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดลดลง มีการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นแต่เงื่อนไขสำคัญคือต้องไม่มีการแพร่ระบาดขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีก” นายดนุชา กล่าว 

สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 2564  มีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จาก 4.7% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจาก 90.6% ในไตรมาสที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน

แต่ในระยะต่อไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ