สศช.ชี้ ‘ว่างงาน’ 8.7 แสนคน สูงสุดตั้งแต่ปี 51

ตลาดแรงงานยังได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาสูงที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ ตลาดแรงงานยังได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาสูงที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 3 พบว่า ภาพรวมการจ้างงานผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลง 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด 19 และสูงสุดตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็น 2.25% โดยผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงาน สูงสุด 3.63% รองลงมาเป็น ปวส. 3.16% ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัด และคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น

ขณะที่แรงงานอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดที่ 9.74% สะท้อนว่าโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้ และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งงานรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานใน ภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2564 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือศบค.เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ และมีการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งจะเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศยังต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ที่ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น การหามาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ซึ่งอาจไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเปิดประเทศดังกล่าว การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานให้กับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มเดิมที่ถูกเลิกจ้างในช่วงโควิดมีการเปลี่ยนอาชีพ และการดำเนินมาตรการอื่นควบคู่กันไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะจากโครงการจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ฉบับใหม่ ซึ่งต้องเน้นให้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น