"สตาร์ทอัพไทย" สะท้อนแรงหนุนจากรัฐที่แผ่วลง

"สตาร์ทอัพไทย" สะท้อนแรงหนุนจากรัฐที่แผ่วลง

เป็นที่น่าเสียดายที่นับถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพเพียงไม่กี่รายเมื่อเทียบกับอาเซียน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจลำดับต้น ๆ ในอาเซียน มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน

การผลักดันสตาร์ทอัพ เป็นแนวทางที่หลายประเทศสนับสนุน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่จากการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งสตาร์ทอัพมีจุดได้เปรียบจากการเป็นธุรกิจตัวเล็กที่มองเห็นช่องทางธุรกิจในบางมุมที่ธุรกิจตัวใหญ่มองข้ามไป

และบางประเด็นที่ธุรกิจตัวเล็กพัฒนาขึ้นมาได้อุดช่องว่างความต้องการของผู้บริโภคจนสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นบริษัทข้ามชาติได้ ซึ่งเห็นตัวอย่างจากสตาร์ทอัพหลายตัวในอาเซียน ที่พัฒนาเป็นยูนิคอร์นจนสามารถก้าวเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้

รัฐบาลไทยประกาศนโยบายการส่งเสริมสตาร์ทอัพมาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ดูเหมือนว่าสตาร์ทอัพของประเทศไทยที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นได้ในปัจจุบันได้มีเพียง 3 ราย อยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินและโลจิสติกส์

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามสร้างอีโคซิสเต็มส์ เพื่อสร้างแรงผลักดันให้กับสตาร์ทอัพ โดยกำหนดนโยบายทั้งด้านการเงินที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นแหล่งระดมทุนให้กับสตาร์ทอัพ เช่น ส่งเสริมการตั้งเวนเจอร์แคปปิตอล

นอกจากนี้ รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้หลายหน่วยงานกำหนดมาตรการส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสตาร์ทอัพ รวมถึงการให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พัฒนานวัตกรรมและบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาสตาร์ทอัพ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการลงทุนของสตาร์ทอัพในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ที่ผ่านมา จึงเห็นแรงผลักดันสตาร์ทอัพอย่างเต็มที่จากหลายหน่วยงาน แต่ในปัจจุบัน แรงผลักดันจากภาครัฐดูแผ่วลง ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แรงกระตุ้นจากแต่ละหน่วยงานจึงแผ่วเบาลง

สวนทางกับการพัฒนาสตาร์ทอัพในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนที่มีข้อมูลเฉพาะในปี 2564 มีสตาร์ทอัพในอาเซียนถึง 19 ราย ที่สามารถยกระดับขึ้นมามีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ จนทำให้อาเซียนเป็นดาวรุ่งด้านสตาร์ทอัพ

เป็นที่น่าเสียดายที่นับถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพเพียงไม่กี่รายเมื่อเทียบกับอาเซียน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจลำดับต้น ๆ ในอาเซียน มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน

แต่ปัจจุบันได้รับฟังนโยบายการสนับสนุนสตาร์ทอัพจากรัฐบาลลดลง ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาสตาร์ทอัพในการออกไปทำธุรกิจนอกประเทศ และยังถูกสตาร์ทอัพต่างชาติที่มีขนาดใหญ่เข้ามาแย่งตลาดในประเทศไทย