ผ่าสูตรรอด “สายการบิน” เร่งจัดบ้านใหม่! ลดฝูงบิน-ลดคน-บริหารสภาพคล่อง

ผ่าสูตรรอด “สายการบิน” เร่งจัดบ้านใหม่! ลดฝูงบิน-ลดคน-บริหารสภาพคล่อง

แม้รัฐบาลไทยจะกดปุ่มรีสตาร์ท ประกาศ “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” ด้วยการออกเกณฑ์ใหม่ “Test & Go” รับนักท่องเที่ยวจากประเทศหรือพื้นที่ที่กำหนด 63 ประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าตลาดการบินระหว่างประเทศจะติดเครื่องยนต์ฟื้น 100% ทันที

เพราะยังมีข้อจำกัดมากมาย หลักๆ คือนโยบายของประเทศต้นทางที่บางประเทศยังไม่วางใจสถานการณ์โควิด-19 ยอมปล่อยให้คนออกท่องเที่ยวต่างประเทศในเร็วๆ นี้

ด้วยรายได้เส้นทางบินระหว่างประเทศของธุรกิจสายการบินในประเทศไทย ส่วนใหญ่ครองสัดส่วนรายได้มากกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด กว่าจะฟื้นตัวกลับมาเต็ม 100% ต่างคาดการณ์ว่าคงเห็นภาพนั้นในปี 2567

ในห้วงเวลา 2-3 ปีนับจากนี้ จึงเป็นช่วงที่สายการบินต้องปรับตัวกันอย่างหนัก เพื่อจัดบ้านใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริหารสภาพคล่อง ซึ่งหนึ่งในกุญแจสำคัญคือการลดต้นทุน ผ่านการดาวน์ไซส์ลดขนาดธุรกิจ ลดขนาดฝูงบิน และสิ่งที่ตามมาคือการลดจำนวนพนักงานเพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณงานและการใช้เครื่องบิน

++ 'ไทยแอร์เอเชีย' เตรียมลดพนักงาน 350 คน

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด หรือ TAA กล่าวว่า หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 มาร่วม 2 ปี เดิมสายการบินไทยแอร์เอเชียคาดการณ์ว่าเส้นทางบินระหว่างประเทศน่าจะฟื้นตัวได้ราวเดือน ม.ค. หรือ ก.พ.2565 แต่ดูจากแนวโน้มสถานการณ์แล้ว ท่าจะยาว จำเป็นต้องลดจำนวนเครื่องบิน ด้วยการคืนเครื่องบิน 6 ลำภายในปีนี้ จากที่มีอยู่ 60 ลำ จะเหลือ 54 ลำ

เมื่อมีการลดเครื่องบิน ความจำเป็นที่ตามมาคือต้องให้พนักงานส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 6 ลำนั้นออกจากการเป็นพนักงาน เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนเครื่องบินที่เหลืออยู่ 54 ลำ โดยไทยแอร์เอเชียจำเป็นต้องให้พนักงานบางส่วน 350 คนออกจากการเป็นพนักงาน จากปัจจุบันที่มีพนักงานอยู่ 5,000 คน โดยจะมีการเปิดรับคนที่ยื่นสมัครใจลาออกก่อน ส่วนพนักงานที่ไม่ได้ยื่นสมัครใจลาออก จะมีการพิจารณาจากผลการทำงาน (Performance) ของแต่ละคน โดยให้ฝ่ายบุคคลไปดูตรงนี้

ก่อนหน้านี้ นายธรรศพลฐ์ กล่าวในไลฟ์สดผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องตัดสินใจเอาพนักงานออกเป็นครั้งแรก!! หลังจากพยายามยื้อรักษาการจ้างงานมาเกือบ 2 ปีนับตั้งแต่เจอวิกฤติโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า “ถ้าเราไม่คืนเครื่องบิน ต่อให้เรามีกระแสเงินสดใหม่เข้ามา เราก็แบกไม่ไหว มันจะพังกันหมด เราจึงจำเป็นที่จะต้องตัดเครื่องบินและพนักงานบางส่วนออก”

ส่วนพนักงานที่ยังอยู่ แน่นอนว่าจะมีการหมุนเวียน (Rotate) กันเข้ามาทำงาน มีการทำเฟอร์โลว์ (Furlough : เป็นวิธีการให้พนักงานแอคทีฟตามจำนวนเครื่องบินที่ใช้งาน) ต่อเนื่อง และในเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นในทุกๆ 2-3 เดือน จะมีการประเมิน โดยไทยแอร์เอเชียจะพยายามขยับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลับมาอยู่ในจุดที่ควรได้รับจริง น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ไตรมาสนับจากนี้

“มองว่าตลาดการบินในประเทศจะกลับมาได้ 100% ก็ประมาณกลางปี 2565 ส่วนตลาดการบินระหว่างประเทศน่าจะกลับมา 20-30% กลางปีหน้า จนถึงปลายปีหน้าถ้าฟื้นได้สัก 50-60% ผมก็ว่าเก่งแล้ว” นายธรรศพลฐ์กล่าว

 

++ TAA หวนบินต่างประเทศ 2 เส้นทางสู่มัลดีฟส์และพนมเปญ

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV และ TAA กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ไทยแอร์เอเชียกลับมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศอีกครั้ง เริ่มด้วย 2 เส้นทางแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - มัลดีฟส์ ความถี่ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (ทุกวันพุธ และ อาทิตย์) และ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - พนมเปญ ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (พุธ ศุกร์ อาทิตย์) ซึ่งต่างเป็นจุดหมายที่มีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นเดียวกับไทย โดยจะทำการบินตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2564 เป็นต้นไป หลังจำเป็นต้องหยุดทำการบินระหว่างประเทศมาร่วม 2 ปีนับตั้งแต่เจอวิกฤติโควิด-19

 

++ ลุ้นผลประชุมผู้ถือหุ้น AAV อนุมัติปรับโครงสร้างกิจการ

สำหรับแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของ AAV ซึ่งเดิมมีแผนจะนำ TAA เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนนั้น ล่าสุดได้ปรับแผนว่าจะยังคง AAV ไว้เช่นเดิม โดย AAV จะเข้าไปถือหุ้นใน TAA เพิ่มจากสัดส่วน 55% ในปัจจุบันเป็น 100% เต็ม ถือเป็นวิธีที่เร็วและง่ายกว่า

“วันที่ 26 พ.ย.นี้จะมีการประชุมผู้ถือหุ้น AAV เพื่อขออนุมัติเรื่องปรับโครงสร้างกิจการใหม่ เพิ่มทุนรวม 1.4 หมื่นล้านบาท เมื่อได้รับการอนุมัติก็สามารถเดินหน้าตามแผนได้เลย เงินทุนลอตที่ 1 จะเข้ามาในเดือน ธ.ค.นี้ 1.1 หมื่นล้านบาท และลอตที่ 2 เดือน ม.ค.2565 อีก 3 พันล้านบาท เพื่อนำมาเงินมาบริหารสภาพคล่องรองรับการเปิดประเทศรวมถึงชำระหนี้ โดยนักลงทุนต่างมั่นใจว่าธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวดีและแข็งแรงอีกครั้ง”

 

++ 'บางกอกแอร์เวย์ส' ดาวน์ไซส์ฝูงบินเหลือ 30 ลำ

ด้านนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” กล่าวว่า แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะมีนโยบายเปิดประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินเริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่เนื่องจากภาคท่องเที่ยวไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางมากกว่า 50% และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมาเที่ยวไทยมากเหมือนเดิม จึงยังไม่สามารถกอบกู้ภาพรวมธุรกิจสายการบินให้ฟื้นตัวมากนัก

ทั้งนี้คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจสายการบินในปี 2565 จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นราว 30-50% จากการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก่อนจะเพิ่มเป็น 60-80% ในปี 2566 และกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ในปี 2567

“จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ธุรกิจสายการบินยังต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยง และลดต้นทุน โดยแผนธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์ส จะลดขนาดฝูงบินให้เหลือ 30 ลำในปี 2565 จากไตรมาส 3 ปี 2564 มีฝูงบินอยู่ที่ 38 ลำ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลำละ 6-8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 300-400 ล้านบาท”

เมื่อมีการลดขนาดฝูงบิน ก็ต้องบริหารจัดการด้านบุคลากรให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้เครื่องบิน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะต้องลดคนจำนวนเท่าใด แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์สได้ลดพนักงานจากการเปิดรับให้ยื่นสมัครใจลาออก หมดสัญญาจ้าง คิดเป็นสัดส่วน 30% จากก่อนวิกฤติโควิดบริษัทมีพนักงานกว่า 3,000 คน ปัจจุบันเหลือกว่า 2,000 คน

 

++ ปรับแผนทำการบินคว้าโอกาสเปิดประเทศ

ด้านแผนการให้บริการเส้นทางบินทั้งในและระหว่างประเทศ หลังมีการคลายล็อกดาวน์เปิดเมืองและเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ บางกอกแอร์เวย์สแบ่งกลุ่มเส้นทางบินไว้ 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

กลุ่ม A เปิดให้บริการแล้วและเปิดเพิ่ม 3 เส้นทางไป-กลับ ได้แก่ กรุงเทพฯ-พนมเปญ, ภูเก็ต-อู่ตะเภา และสมุย-อู่ตะเภา ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564

กลุ่ม B ไป-กลับ สมุย-ฮ่องกง, สมุย-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ เริ่มเดือน เม.ย.-ต.ค.2565

และกลุ่ม C เที่ยวเดียว ได้แก่ เชียงใหม่-ภูเก็ต, เชียงใหม่-กระบี่ ส่วนไป-กลับ ได้แก่ สมุย-กระบี่, กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง, กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง, กรุงเทพฯ-ดานัง, กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์ และกรุงเทพฯ-เสียมเรียบ เริ่มปลายเดือน ต.ค.2565

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของภาพรวมแผนจัดบ้านใหม่ธุรกิจสายการบิน ในสถานการณ์ที่แม้จะรัฐบาลไทยจะมีนโยบายเปิดประเทศก็จริง แต่ตลาดเส้นทางบินระหว่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มร้อยอย่างแน่นอนในปี 2565 ด้วยดีมานด์จากประเทศต้นทางเป้าหมายยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น ประเทศจีน ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยสูงเกือบ 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 ที่ยังต้องรอทางการจีนประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการว่าพร้อมจะส่งออกชาวจีนให้มาเที่ยวไทยได้เมื่อไร