ธปท.-สมาคมแบงก์ เร่งรีสตาร์ทภาคการเงิน เกาะเทรนด์ดิจิทัล

ธปท.-สมาคมแบงก์ เร่งรีสตาร์ทภาคการเงิน เกาะเทรนด์ดิจิทัล

ธปท.แนะเร่งยกระดับเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย หวั่นฉุดจีดีพีไทย โตต่ำ3% ต่อเนื่อง ขณะที่สมาคมธนาคารไทย ชี้4เทรนด์อนาคตโลกการเงิน โลกของดาต้า การคำนึงถึงESG การปรับตัวรับดีสรับชั่น

ธปท.-สมาคมแบงก์ เร่งรีสตาร์ทภาคการเงิน เกาะเทรนด์ดิจิทัล        ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทย ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19  อีกทั้งยังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆอีกมากในระยะข้างหน้า ทั้งจากกระแสดิจิทัลดิสรับชั่น การเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ เศรษฐกิจไทย ภาคธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อรองรับ New nomal  

    “เศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงาน ปาฐกถาพิเศษ งานสัมมนาออนไลน์ในโอกาสครบรอบ 40 ปี วารสารการเงินธนาคาร ภายใต้หัวข้อ หัวข้อ “Looking Beyond Covid-19 : โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด 19”
 

     โดย “เศรษฐพุฒิ”กล่าวว่า 40 ปี ที่ผ่านมา ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็ยังคงมีโครงสร้างแบบเดิม ยังพึ่งพาการส่งออกยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ การท่องเที่ยว สวนทางกับบริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม

     ดังนั้นหากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ อาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลงเรื่อยๆ หากดูจากจำนวนแรงงานของไทยในระยะข้างหน้า จะลดลงมาเป็นปีละ -1% หากเราไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3% ก็คือ -1% บวก 4%

“มองไปข้างหน้า หากไม่มีการลงทุนเพิ่มเพื่อประสิทธิภาพของแรงงานเศรษฐกิจไทย จะยิ่งชะลอตัวลงจากจำนวนแรงงานจะหดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ”

 

    สุดท้ายแล้ว Growth story ของไทย จะเป็นแบบไหน? เราคงต้องโตแบบไทย เน้นด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด โดยเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง

       ไทยมีความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

       ซึ่งในระยะข้างหน้า จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่เข้ามากระทบการวาง Growth story ของเรา อย่างแรก คือ กระแส ดิจิทัล ที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง อีกกระแส คือ sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด

     นอกจากนี้ ทุกส่วนต้องเร่งทำบทบาทตัวเองเพื่อผลักดันการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ ภาครัฐต้องปรับสู่โหมด facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว

     ธปท. เองในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินก็ต้องปรับตัว โดยการเพิ่มบทบาทในการเป็น facilitator และลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่าง ๆเอื้อให้เกิดการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลมากขึ้น

     ปัจจุบัน ธปท. กำลังเร่งวาง future financial landscape เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผ่านการเพิ่มการแข่งขัน

     ในขณะเดียวกัน ก็ต้องช่วยผู้ให้บริการทางการเงินในการปรับตัว สร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงินสามารถรองรับ shock ได้ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดขึ้นในต้นปีหน้า

    อีกด้าน ที่สำคัญต่อภาคเศรษฐกิจไทย คือภาคการเงิน “ผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ได้สร้างบาดแผลลึกให้กับระบบเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ภาคการเงินและการธนาคารก็เผชิญความความท้าทายมากเช่นกัน แม้จะมีความแข็งแกร่ง

     แต่ก็แบกรับความเสี่ยงก้อนใหญ่กว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นยอดสินเชื่อที่ขอรับการช่วยเหลือโดยเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ ความสามารถในการทำกำไร ก็ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวในระดับต่ำ

    โลกอนาคตของสถาบันการเงินไทยจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด? มองว่าเราจะเห็นสถาบันการเงินปรับเข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ใน 4 ทิศทาง ที่เรียกว่า 4F

     ทิศทางแรก การก้าวไปสู่ยุค “Full-scale digital” การเดินทางบนเส้นทาง digital transformation ของระบบการเงินจะยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นตามการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยี ผู้บริโภคจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น 

ทิศทางที่สอง การก้าวไปสู่ยุคที่ธุรกิจการเงินจะขับเคลื่อนและแข่งขันด้วยข้อมูลหรือ “Fueled by data” เราจะเห็นทิศทางของการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เข้มข้นขึ้นและครอบคลุมประเภทของข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น

    ทิศทางที่สามคือ การที่ธุรกิจการเงินจะต้องตอบโจทย์ “For a better world” หรือการที่สถาบันการเงินจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้าน “สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” (ESG)

   ทิศทางที่สี่ คือ “Fast moving” หรือการที่สถาบันการเงินจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้นเพื่อรับมือกับ disruption และการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่ บทบาทการเป็นตัวกลางของสถาบันการเงินเริ่มมีความสำคัญลดลง เนื่องจากการเข้ามาของระบบบริการการเงินแบบไร้ตัวกลาง ซึ่งทำให้ตลาด digital lending ทั่วโลกเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวภายในเวลาอีก 5 ปี

    ในส่วนของสมาคมธนาคารไทย ก็ได้มีการวาง Roadmap 3 ปี มุ่งตอบโจทย์ 4 Themes โดยเป็นRoadmap ในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อมุ่งส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ใน 4 Themes

    ธีมแรก “Enabling country  competitiveness”คือการเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ สอง “Regional championing” การวาง Roadmap ที่จะเดินหน้าสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินระหว่างกันในภูมิภาคมากขึ้น

    สาม“Sustainability” การดำเนินงานของธนาคารคำนึงถึง ESG สุดท้ายคือ “Human capital” คือการการสร้าง Pool of Talent ที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต กำลังคนในภาคธนาคารต้องปรับตัวรองรับกระแส disruption ต่างๆ ให้ได้ จึงเดินหน้า Up & Re-skill พนักงานที่ปัจจุบันทั้งระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่กว่า 1.36 แสนราย ให้มี Digital literacy มากขึ้น