โครงสร้างพื้นฐานอีอีซี   ยกระดับรายได้ภาคตะวันออก

ปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ระยะที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และระบบราง

เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการเดินทาง การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.7 เท่า ภายในปี 2580

สำหรับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่กระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการในระยะที่ 2 ระหว่างปี 2565 – 2570 เบื้องต้นจะมี 131 โครงการ วงเงินลงทุน 386,565 ล้านบาทโดยเงินลงทุนจะมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ งบประมาณ เงินรัฐวิสาหกิจ และเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP โดยโครงการส่วนใหญ่เน้นเพิ่มโครงข่ายรองเชื่อมต่อกับโครงการหลักที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่แล้ว

แผนการลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ปี 2565–2566 จะเป็นการพัฒนาโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชื่อมโยง เช่น โครงการก่อสร้างการเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M7 เข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา และการปรับปรุงก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในระยะที่ 1 ที่ได้อนุมัติไปแล้ว

ระยะกลางปี2567–2570 อาทิ การก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงระยอง–จันทบุรี–ตราด, ช่วงคลองสิบเก้า-กบินทร์บุรี-คลองเล็ก (จ.สระบุรี)–อรัญประเทศ, ช่วงศรีราชา-ระยอง, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองชลบุรี-นครราชสีมาช่วงแหลมฉบัง–ปราจีนบุรี, โครงการรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายระยอง–จันทบุรี-ตราด, การปรับปรุงท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 1, โครงการก่อสร้างถนนโลจิสติกส์เชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง, โครงการก่อสร้างถนนสาย ก ผังเมืองรวมชลบุรี, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา

หากพิจารณาประเภทโครงการ กระทรวงคมนาคมให้น้ำหนัก “ระบบราง” มากสุดอยู่ที่ 43% เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายจากอู่ตะเภาไป จ.ระยอง รองลงมาทางถนน 29% เช่น ทางเลี่ยงเมือง มอเตอร์เวย์เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา ทางน้ำ 11% เช่น ศูนย์ซ่อมสร้างเรือ เป็นต้น ทางอากาศ 8% เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และสาธารณูปโภค 9%

ตามแผนของกระทรวงคมนาคม การพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมที่สนับสนุนการเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่ง เศรษฐกิจ และการค้า จากพื้นที่อีอีซีสู่ภาคตะวันออกและกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ คาดว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่อีอีซีให้มีความสะดวกสบายและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งจากการลดเวลาการเดินทาง ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เพิ่มสัดส่วนการเดินทางสาธารณะ และเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง รวมถึงการยกระดับจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วย

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในอีอีซี คงไม่หมายถึงการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งแต่เพียงอย่างเดียว หากยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลซึ่งหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และการแพร่ภาพกระจายเสียง ซึ่งการหลอมรวมเทคโนโลยีทั้งสามด้านที่เป็นนวัตกรรมใหม่ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการผลิต และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเป็นเมืองใหม่อัจฉริยะ

การสร้างฐานความเจริญแห่งใหม่ที่มุ่งพัฒนาทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม ด้านสังคม และด้านเทคโนโลยี จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ รวมทั้งยกระดับการพัฒนาเมือง ก่อเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพใหม่ ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้ประชาชนมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยฐานความเจริญในอีอีซีก็จะกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นของไทยด้วย