ส่องขุมทรัพย์นิคมฯ น้องใหม่ ‘ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค

ส่องขุมทรัพย์นิคมฯ น้องใหม่  ‘ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค

"เปิดประเทศ"ประตูกลุ่มธุรกิจ"นิคมอุตสาหกรรม"จากการล็อกดาวน์ทำให้ "นักลงทุนต่างชาติ"ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่เมื่อภาครัฐตัดสินใจเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อีกครั้ง !

สอดรับไปกับนโยบายของภาครัฐที่กำลังเร่งพัฒนาพื้นที่“เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (EEC)โดยมีเป้าหมายใช้เป็น“ฐานการผลิต”ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างแดนอีกมากมาย หลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้ “ปัจจัยบวก” ดังกล่าว ยกให้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN หุ้นกลุ่มนิคมฯ ตัวล่าสุดที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา เปิดซื้อขายวันแรก (เทรด) 4 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 2.56% จากราคาไอพีโอ 3.90 บาทต่อหุ้น   

“ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค” ประกอบธุรกิจ พัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม พร้อมระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่พาณิชยกรรมประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทอาคารโรงงานและคลังสินค้าเพื่อเช่าและขายสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรวมถึงลงทุน และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (PPF)

โดยเปิดดำเนินการแล้วรวม 6 โครงการ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 1 (PIN1) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (แหลมฉบัง) (PIN2) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 3 (PIN3) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 4 (PIN4) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 5 (PIN5) และโครงการ Logistics Park อีก 1 โครงการคือ โครงการปิ่นทองแลนด์ (PL)พื้นที่รวมกันกว่า 7,500 ไร่

 “พีระ ปัทมวรกุลชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ PIN ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ด้วย “จุดเด่น” ของ นิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งมีทำเลที่ตั้ง“โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง” และ“Logistics Park”อยู่ใน“เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (EEC)ใกล้ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และบนถนนสายหลักเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา

สะท้อนผ่าน ในแผนธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า (2565-2569) บริษัทมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วน “รายได้ประจำ”(Recurring Income)เพิ่มมากขึ้นแตะ 40-50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% เป็นการสร้างเสถียรภาพการรับรู้รายได้ของบริษัท สอดรับเงินระดมทุนนำมาพัฒนาขยายโครงการลงทุนพื้นที่โลจิสติกส์ (Logistics Park) แห่งใหม่ จำนวน 770 ล้านบาท โดยบริษัทพัฒนาที่ดินให้เช่าในระยะยาว และสร้างอาคารโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า พื้นที่อาคารรวมประมาณ100,000 ตารางเมตร

โดยแบ่งเป็น 2 เฟส คาดแล้วเสร็จเฟสแรกภายในปี 2565 ทำให้บริษัทผลักดันรายได้จากการขายที่ดินเพิ่มขึ้น และเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำจากรายได้ค่าเช่าอาคารโรงงานและคลังสินค้า รวมถึงค่าบริการจากการให้บริการระบบสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต

ทั้งนี้ เชื่อว่า PIN มีศักยภาพการเติบโตสูงมากกับโอกาสการเปิดประเทศครั้งใหม่ของภาครัฐ เพื่อต้อนรับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลกในช่วงจังหวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ขณะเดียวกัน บริษัทมีระยะยาวภายใน 3-5 ปีข้างหน้าต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำมากขึ้นขยายเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการเติบโตอย่างมั่นคงระยะยาว

“เรามุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อรองรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการดึงเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve โดยบริษัทเตรียมเปิดขายพื้นที่พัฒนาแล้วในโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 เฟสแรกในจังหวัดระยอง ภายในไตรมาสสุดท้ายปีนี้อีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพการดำเนินงานที่มีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมานานกว่า 25 ปีบริษัทพร้อมต่อยอดนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองไปสู่“เมืองอัจฉริยะ”(Smart City)ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและจะเพิ่มความโดดเด่นและเสริมจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งของโครงการทั้ง 7 แห่ง อยู่ในเขต EEC ได้มากยิ่งขึ้น

โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2565 เติบโต 60-70% รับผลบวกหลังเปิดประเทศ โดยปัจจัยหนุนมาจากรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 และรายได้ค่าเช่าจากการลงทุนโครงการ Logistics Park แห่งใหม่ คาดรับรู้รายได้กลางปี 2565 ถึงปลายปี ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินคิดเป็นมูลค่า 250-260 ล้านบาท คาดจะโอนได้ในปีนี้ทั้งหมดสำหรับผลประกอบการปีนี้คาดรายได้รวมไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน หรืออาจจะเติบโตลดลงเนื่องจากผลจากโควิด-19

ท้ายสุด “พีระ” บอกไว้ว่าหลังระดมทุนเข้าตลาดแล้ว อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) จะอยู่ที่ 0.8-0.9 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.9 เท่า ตั้งเป้ารักษาไม่ให้เกิน 1 เท่า

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์