‘อาทิตย์’ ขอบคุณผู้ถือหุ้น ส่งไทยพาณิชย์ ขึ้นยานแม่ มั่นใจรายได้ทะยาน

‘อาทิตย์’ ขอบคุณผู้ถือหุ้น ส่งไทยพาณิชย์ ขึ้นยานแม่ มั่นใจรายได้ทะยาน

ผู้ถือหุ้นไทยพาณิชย์กว่า 99% ไฟเขียวส่งธนาคารขึ้นยานแม่“เอสซีบีเอ็กซ์” คาดปิดดีล“แลกหุ้น” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไตรมาสแรกปีหน้า “อาทิตย์”แจงผู้ถือหุ้นยิบ การันตีหลังปรับโครงสร้าง หนุนผลตอบแทนเพิ่ม ดันกำไรทะยาน

          บรรลุเป้าหมายระยะแรกสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB ที่ประกาศผ่าตัดรื้อโครงสร้างธุรกิจธนาคารครั้งใหญ่ ผ่านการจัดตั้ง “ยานแม่” เอสซีบี เอ็กซ์ (SCBx) เพื่อนำธุรกิจการเงินไปสู่การเติบโตที่ไร้ขีดจำกัด ฉีกกรอบเดิมๆของการทำธุรกิจดั้งเดิมของธุรกิจธนาคารให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไปสู่ เทคคอมพานี โดยสมบูรณ์

          หลังจากที่วานนี้(15 พ.ย.) ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ ลงมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารในทุกวาระไปสู่โครงสร้างใหม่ ภายใต้ SCBx ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 99% ของผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด แม้ว่าจะมีคำถามจากผู้ถือหุ้นมากมาย โดยใช้เวลาการประชุมเกือบ 3 ชั่วโมง 

‘อาทิตย์’ ขอบคุณผู้ถือหุ้น ส่งไทยพาณิชย์ ขึ้นยานแม่ มั่นใจรายได้ทะยาน       นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวขอขอบคุณผู้ถือหุ้นที่ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในแนวทางการสร้างไทยพาณิชย์ให้เป็นธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินด้วยเป้าหมายสู่การเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด และเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ทุกฝ่ายอย่างมั่นคงและแข็งแรงต่อไป
      โดยเห็นว่าแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและความคล่องตัวในการเติบโตของธุรกิจของกลุ่มธุรกิจไทยพาณิชย์ในหลายด้าน รวมทั้งเพิ่มความชัดเจนในการทำธุรกิจของกลุ่มธุรกิจไทยพาณิชย์ ให้สามารถขยายและพัฒนาธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนทำให้กลุ่มธุรกิจไทยพาณิชย์ มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มธุรกิจไทยพาณิชย์โดยรวม

    อาทิตย์กล่าวว่า ในหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจธนาคาร ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จากสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง ทั้งจากธนาคารด้วยกันเอง ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) และฟินเทค และบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก

      ไทยพาณิชย์ จึงต้องปรับและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา โดยการลงทุนด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่อย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการสร้าง บริษัทเอสซีบีเท็นเอ็กซ์(SCB10x) เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลต่างๆ หรือโรบินฮูด แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ฯลฯ

ปรับโครงสร้างไม่ตอบโจทย์กำไร

      อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดที่ธนาคารได้เรียนรู้ จากการเคลื่อนองค์กรที่ผ่านมา จากการปรับโครงสร้างคือ การปรับโครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง นอกจากทำไม่ได้รวดเร็วแล้ว ยังไม่สามารถสร้างผลประกอบการที่ดีให้กับธนาคารได้เต็มที่

       ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเติบโตและยั่งยืน แข่งขันได้ ธนาคารจึงต้องให้ความสำคัญ กับการปรับโครงสร้างองค์กรในรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองลูกค้าในวงกว้างขึ้น รวดเร็วขึ้น จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างองค์กร ไปสู่ “SCBx

     โดยการปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการแข่งขัน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นระยะยาว

     อีกทั้งเป็นการเพิ่มความชัดเจน ในการทำธุรกิจ และสามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายในวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้ตรงตามความต้องการของแต่ละธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น

     ทั้งนี้การทำธุรกิจของ SCBx จะโฟกัสในธุรกิจการเงิน เน้นการเอาเทคโนโลยีมาใช้สร้างแพลตฟอร์ม เน้นการทำไฟแนนเชียลเทคโนโลยี และดิจิทัลแอสเซท อีกส่วนจะเป็นการมุ่งไปทำธุรกิจไฟแนนเชียลในภูมิภาค

SCBxเข้าตลาดไตรมาส1/65

     นายอาทิตย์ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ หลังจากผู้ถือหุ้นอนุมัติการจัดตั้ง SCBx คือการกระบวนการเพิกถอนหุ้น ไทยพาณิชย์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และจดทะเบียน SCBx เข้าจดทะเบียนแทน โดย SCBx จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตรา 1 หุ้นสามัญไทยพาณิชย์ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBx และ 1 หุ้นบุริมสิทธิไทยพาณิชย์ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBx

     โดยในช่วง ก.พ. ถึง มี.ค. 2565 ผู้ถือหุ้นจะพิจารณาทำคำตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์(Tender Offer) จากบริษัท SCBx โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90%

ไฟเขียวโอนบริษัทย่อย

     นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังอนุมัติการโอนย้ายบริษัทย่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น ให้แก่ SCBx หรือบริษัทย่อยของ SCBx และการมอบอำนาจที่เกี่ยวข้อง

    และอนุมัติการโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้แก่บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (Card X) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ของ SCBx โดยที่ SCBx จะถือหุ้นใน Card X 99.99% และการมอบอำนาจที่เกี่ยวข้อง

     โดยการโอนย้ายบริษัทย่อยทั้ง 10บริษัท เบื้องต้นมีมูลค่าการโอนย้ายอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยประเมิน ณ 30 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

      หลังจาก scbx เข้าจดทะเบียนแล้ว คาดว่า บริษัทที่จะมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ และสร้างรายได้ก่อน ภายใต้ SCBx คือ บริษัทคาร์ด เอกซ์ ซึ่งจะมีส่วนหนุนรายได้ให้กับบริษัทได้ทันที ขณะที่บริษัทอื่นๆจะทยอยเข้ามาในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

     นายอาทิตย์ กล่าวว่า การโอนย้าย ธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้น ก็เพื่อให้การบริหารจัดมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดความเสี่ยงที่เหมาะสม ให้สามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น และสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น

    ดังนั้นการแยกสินเชื่อดังกล่าวออกมาจากทำเกิดความคล่องตัวมากขึ้น โดยจะนำเทคโนโลยีทันสมัย และการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ดาต้า มาวิเคราะห์สินเชื่อและสร้างระบบจัดเก็บหนี้ และรองรับการเติบโตกับลูกค้าที่เสี่ยงสูงขึ้นได้

     ทั้งนี้การจัดตั้ง Card x และ Card x AMC เพื่อรับโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้น มูลค่าการโอนกิจการ รวมถึงมูลค่าการโอนสินเชื่อด้อยคุณภาพ คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วง ไตรมาส 3 ของปี 2565 โดยมีมูลค่าการโอนอยู่ที่ราว 1.08 เท่า ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือเท่ากับ 1.11 แสนล้านบาท

อนุมัติ7หมื่นล้านให้ SCBx

    นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้น ยังมีมติให้ธนาคารไทยพาณิชย์จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นกรณีพิเศษ จำนวน 7 หมื่นล้านบาท ให้แก่ SCBX เพื่อสำหรับการรับโอนบริษัทย่อยและธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันดังกล่าว

      ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น การจัดตั้งบริษัทใหม่ และการลงทุนใหม่เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตในอนาคต ตามที่คณะกรรมการธนาคารเสนอ

     โดยคาดว่า การอนุมัติการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ภายใต้ SCBx จะสามารถจ่ายได้ ราว ส.ค.ปีหน้า ซึ่งล่าช้าจากกำหนดเดิม จากที่ SCB เคยจ่ายปันผล ราวพ.ค. ของทุกปี โดยเบื้องต้นกำหนดอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ

    "ธุรกิจธนาคารจะยังเป็นธุรกิจหลักวันนี้ และธุรกิจหลายส่วนอยู่ในธุรกิจการเงิน ที่จะเป็นการช่วยขยายการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีทางการเงิน ที่ค่อนข้างแอดวานซ์ที่จะอยู่ใน SCBx ซึ่งการเติบโตในอนาคต จะมาจากทั้ง การซื้อกิจการ การร่วมลงทุนระดับจอยซ์เวนเจอร์ พาสเนอร์ชิฟ หรือการตัดสินใจสร้างกิจการขึ้นมาใหม่”

     อย่างไรก็ตามการอนุมัติวงเงิน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการจ่ายปันผลของ SCBx และการขยายธุรกิจในอนาคต เงินส่วนนี้มาจาก เงินกำไรสะสมของธนาคาร ที่ดึงมาครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งในอนาคตจะไม่มีการดึงเงินส่วนนี้มาอีก

      โดยการดึงเงินดังกล่าว อยู่ภายใต้การพิจารณาถึง เงินกองทุนของธนาคารแล้ว ว่าอยู่ในระดับเหมาะสมแข็งแกร่ง และสามารถบริหารธุรกิจภายใต้มาตรฐานสูงสุด      

     ดังนั้นแม้จะดึงกำไรสะสมออกมา และกระทบต่อเงินกองทุนของธนาคารให้ลดลง แต่เงินกองทุนของธนาคารยังอยู่ระดับสูงและสามารถรักษาความแข็งแกร่งได้ต่อเนื่อง

     นายอาทิตย์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ เริ่มแรก รายได้หลักๆ จะยังมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ 80-90% ที่มาจากธุรกิจธนาคาร แต่อนาคต ที่อยากเห็นคือ รายได้จากSCBX  ที่ไม่ได้มาจากแบงก์ ราว 30% ซึ่งจะทำให้รายได้แบงก์ลดลงเหลือกว่า 60% จาก 90% ในปัจจุบัน

     “การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะทำให้เราสามารถแข่งขันได้ และสร้างการเติบโตจากธุรกิจอื่น นอกเหนือจากธนาคาร และสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า อันนี้ก็จะช่วยให้ผู้ถือหุ้น มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการมีผลตอบแทน และมีอัตราการทำกำไรที่สูงขึ้นด้วย”

ดันบริษัทลูกSCBxเข้าตลาด

     อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ SCBx มียุทธ์ศาสตร์ว่า เมื่อบริษัทต่างๆภายใต้ SCBx ที่ทั้งเข้าไปถือหุ้น บริษัทร่วมทุนต่างๆ เมื่อมีการเติบโต สามารถพัฒนาโอกาสจนสร้างผลกำไรจนเป็นระดับที่น่าพอใจแล้ว ก็ต้องการให้ทุกบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเวลาที่เหมาะสมในอนาคตด้วย

     สำหรับการเข้าไปลงทุนของกลุ่ม SCBx ใน Bitkub จำนวน 51% มูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาทนั้น ยืนยันว่า ธนาคารไม่มีนโยบายในการเข้าไปลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี่ แต่การเข้าไปถือหุ้นใน Bitkub ขณะนี้กระบวนการซื้อหุ้น ยังไม่เกิดขึ้น

.    ซึ่งต้องรอการพิจารณาจากหน่วยงานกำกับ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)

     โดยอยู่ในขั้นตอนของการทำ สอบทานธุรกิจหรือ Due Diligence ดังนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานกำกับว่าจะอนุมัติหรือไม่ จากนั้นจะมาชี้แจงผู้ถือหุ้นระยะต่อไปว่าดำเนินธุรกิจอย่างไร