ไขความลับ “BE8” เสน่ห์แรง "รายใหญ่" ซบ !

ไขความลับ “BE8” เสน่ห์แรง "รายใหญ่" ซบ !

"เทคโนโลยี" เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน ! ส่งผลธุรกิจต้องเร่งปรับตัว หากไม่อยากถูกดิสรัป และแรงขับเคลื่อนดังกล่าว ผลักดันให้ “เบริล 8 พลัส” ผู้นำ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์” เสน่ห์แรงแตะตานักลงทุนรายใหญ่วีไอ อย่าง “สถาพร งามเรืองพงศ์” ซื้อหุ้นบิ๊กล็อต 4% ในวันแรก

เมื่อโลกของธุรกิจ ! กำลังถูกเทคโนโลยีเข้ามาสร้าง “การเปลี่ยนแปลง“ (Transformation) ครั้งใหญ่ ทำให้เจ้าของธุรกิจต้องเร่งปรับตัวก่อนถูก “เทคโนโลยีดิสรัป” ดังนั้น หนึ่งในธุรกิจกำลังเป็น “ดาวรุ่ง” ต้องยกให้ “ธุรกิจที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation” ซึ่งหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ บมจ.เบริล 8 พลัส หรือ BE8 ผู้นำด้าน Digital Transformation แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ มีพันธมิตรยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุนอย่าง Salesforce Ventures ซึ่งอยู่ในเครือของเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Salesforce เข้ามาร่วมลงทุนด้วย

ด้วย “จุดเด่น” ดังกล่าวอาจจะเป็นเหตุผลแตะตา “นักลงทุนรายใหญ่” อย่าง “สถาพร งามเรืองพงศ์” นักลงทุนรายใหญ่แบบเน้นคุณค่า (วีไอ) เข้าซื้อหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายผ่านกระดานซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ (Big Lot) ในวันแรกเข้าซื้อขาย (8 พ.ย.2564) สัดส่วน 4% ในราคา 10 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นเดียวกับการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) 

“อภิเษก เทวินทรภักติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เบริล 8 พลัส หรือ BE8 เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ด้วยศักยภาพการของ BE8 ที่ดำเนินธุรกิจ Digital Transformation แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ มีเป้าหมายแผนธุรกิจมุ่งสู่ผู้นำขับเคลื่อนการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นแห่งอาเซียน โดยมองว่าการเข้าถือหุ้นของนักลงทุนวีไอรายใหญ่ ที่มีกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวในหุ้นพื้นฐานดี ดังนั้น ถือเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต “ก้าวกระโดด” ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยอนาคตยังไม่มีแผนขายหุ้นบิ๊กล็อตเพิ่มเติมแต่อย่างใด ! 

โดย BE8 แบ่งธุรกิจออกเป็น

1.งานบริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และพัฒนาเทคโนโลยี (Strategy and Technology Consulting) ซึ่งบริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และพัฒนาเทคโนโลยี เริ่มตั้งแต่การวางแผนร่วมกับลูกค้าในการวางทิศทางและกลยุทธ์การทำ Digital Transformation และดำเนินการออกแบบระบบ พัฒนาระบบ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของพนักงานในองค์กร

2.งานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี (Technology Support Service) ซึ่งงานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี จะประกอบด้วยการขายสิทธิในการใช้ใบอนุญาตการใช้ซอฟต์แวร์ ตามจำนวนผู้ใช้งาน (User) และระยะเวลาที่ตกลงกัน จากซอฟต์แวร์ที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิในการเป็นตัวแทนจำหน่าย (Reseller Partner) หรือเลือกใช้ในการติดตั้งให้แก่ลูกค้า รวมถึงงานบริการหลังการติดตั้ง เช่น การให้บริการดูแลและบำรุงรักษา (Maintenance) และงานสนับสนุนด้านอื่นๆ

เขา แจกแจงต่อว่า หลังเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นแล้ว บริษัทมีแผนนำเงินระดมทุนสร้างการเติบโตจาก “3 ส่วน” คือ “ขยายตลาดต่างประเทศ” วางงบลงทุนไม่เกิน 25 ล้านบาท สะท้อนผ่านการลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยปี 2565 บริษัทจะมุ่งเน้นขยายตลาดในเวียดนามมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมีลูกค้าในเวียดนามแล้วประมาณ 10 ราย หลักๆ เป็นลูกค้าองค์ขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคาร (แบงก์) , อีคอมเมิร์ซ , ค้าปลีก (รีเทล) เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าประเทศเวียดนามเป็น “โอกาส” ในการเติบโตของบริษัท เนื่องจากปัจจุบันตลาดเวียดนามถือเป็นตลาดที่มี “ความต้องการของลูกค้า” หรือ Blue Ocean เนื่องจากเวียดนามในเรื่องของ Digital Transformation ยังช้ากว่าเมืองไทย ขณะที่เมืองไทยมีการปรับตัวเรื่องดังกล่าวมากว่า 5-6 ปีแล้ว ประกอบกับประเทศเวียดนามเน้นลงทุนด้านดิจิทัลสูงเป็น “2 เท่า” ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ตลาดเวียดนามถือเป็นความโชคดีของเรา เนื่องจากเวียดนามเพิ่งเน้นลงทุน Digital Transformation 1-2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เราจะนำความเชียวชาญในการทำตลาดลูกค้าในเมืองไทยไปเจาะตลาดในเวียดนาม โดยเฉพาะใน 5 กลุ่มธุรกิจ เช่น แบงก์ , ประกัน , อีคอมเมิร์ซ (ค้าปลีก) , แฟคตอริ่ง (Factoring) , พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น”

“ลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์” วางงบลงทุนไว้ไม่เกิน 25 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ (โปรดักท์) ของตัวเองมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ประกอบกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองทำให้อัตราการทำกำไร หรือ “มาร์จินระดับสูง” โดยเบื้องต้นบริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในเมืองไทยเป็นหลักก่อน 

และ “ลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจหรือธุรกิจอื่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจ” ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตร หรือ การซื้อกิจการ (M&A) วางงบลงทุนไว้ประมาณ 330 ล้านบาท ซึ่งมีแผนจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่เข้ามาช่วยต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสเข้าไปลงทุนในบริษัทอื่นๆ โดยบริษัทมองโอกาสที่จะร่วมได้กับทุกธุรกิจ ทั้งประกันก็น่าสนใจ และยังสามารถทำ M&A กับเทคโนโลยีที่มีโปรดักท์เป็นของตัวเอง และกับโปรดักท์ที่น่าสนใจก็เป็นโอกาสโตผ่าน M&A ได้

ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 25% กำไรโตมากกว่าปีก่อน รายได้ก็มาจากการพัฒนาระบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และเทคโนโลยีเซอร์วิส การให้เช่าสิทธิใช้ซอฟแวร์ ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนก็จะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากขึ้น เนื่องจากมีมาร์จินที่ดีกว่า และการขยายตลาดไปต่างประเทศ 

"เราวางแผนสร้างรากฐานการให้บริการ Digital Transformation แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ให้มีความแข็งแกร่งและก้าวทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยจะลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่เป็นของบริษัทขึ้นมาเอง ตลอดจนการร่วมทุนทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ” 

ท้ายสุด “อภิเษก” บอกไว้ว่า ที่ผ่านมาเรานำเสนอการให้บริการที่ตอบสนองกับลูกค้าทุกอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ กลางและเล็ก เพื่อก้าวสู่ผู้นำการทำ Digital Transformation แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน