ธปท.รับปี 65 ‘หนี้เสีย’ ขึ้นต่อ เร่งแบงก์ช่วยต่อลมหายใจลูกหนี้

ธปท.รับปี 65 ‘หนี้เสีย’ ขึ้นต่อ เร่งแบงก์ช่วยต่อลมหายใจลูกหนี้

ธปท.ชี้ทิศทางหนี้เสียยังขยับต่อเนื่อง ยาวถึงปี 65 แม้จะยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือ เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยแก้หนี้ระยะยาว สอดคล้องกับรายได้ เพื่อลดการเกิดหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง มั่นใจระบบแบงก์แกร่ง

      นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากดูทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ในปี 2565 เชื่อว่าหนี้เสียยังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

      แต่การปรับขึ้นคงไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นรุนแรง จนทำให้เกิดหน้าผาเอ็นพีแอลหรือ  NPL Cliff  จากการเร่งเข้าไปช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ทั้งมาตรการแก้หนี้เดิม แก้หนี้ระยะยาว การปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ดังนั้นก็หวังว่าหนี้เสียจะทยอยเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับที่แบงก์สามารถบริหารจัดการได้ 
       “สำหรับคุณภาพหนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตา โดยเชื่อว่าโดยรวมคุณภาพหนี้จะเสื่อมลงเล็กน้อย ดังนั้นเราพยายามให้แบงก์ช่วยลูกหนี้ให้มาก ทั้งผ่านมาตรการเดิม มาตรการแก้หนี้ระยะยาว หรือการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระเงินได้ต่ำลง ยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะเรามองว่าสถานกาณณ์นี้จะอยู่ยาวนาน จึงผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ไปถึงสิ้นปีหน้า และจากวิกฤตินี้เราเชื่อว่าลูกหนี้ก็คงไม่ได้รอดไปได้ทุกคน จึงต้องมีกลไกดูแลลูกหนี้ รวมไปถึงการช่วยไกล่เกลี่ยหนี้เมื่อเข้าสู่การฟ้องร้อง” 

      สำหรับภาพรวมหนี้เสียในไตรมาส  3 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.14% หรือมีหนี้เสียคงค้างที่ 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ อยู่ 3.09% เช่นเดียกวัน สินเชื่อจัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือSM ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.69% จาก 6.34% 
      โดยหนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้น มาจากสินเชื่อธุรกิจ ที่เอ็นพีแอลปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.25% จาก 3.17%  ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคปรับลดลงมาอยู่ที 2.89% จาก 2.92% 
      ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกหนี้ของแบงก์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่ก.ค.ปี2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลืออยู่ที่ 6.7 ล้านบัญชี หรือ 3.8 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อรายย่อย 6.04 ล้านบัญชี และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี 6.3 แสนบัญชี 

       โดยปรับลดลงหากเทียบกับ การขอรับความช่วยเหลือเมื่อก.ค. ปี 2563 ที่มีอยู่ 12.52 ล้านบัญชี หรือ 7.2 ล้านล้านล้านบาท 
 

    สำหรับ ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง 
      โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของ COVID-19 

      ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 

      โดยหลักจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงเนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ได้กันสำรองในระดับสูงในปีก่อน รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้

       ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,024.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ19.9 เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 872.0 พันล้านบาท 

       โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ร้อยละ 155.0 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ร้อยละ 186.8

      ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ สินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่องแม้หักผลของสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐและมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยมีรายละเอียดดังนี้

    สินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ในเกือบทุกประเภทธุรกิจ 

      รวมถึงสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEsขยายตัวต่อเนื่อง จากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ

      สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อน
ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยสินเชื่อรถยนต์หดตัวสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัว 
สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัวตามปริมาณการใช้บัตรเครดิตที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด 
      สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลง ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว  ในอัตราที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สอดคล้องกับความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือน

    ขณะที่ ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2564 จำนวน 38.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 45.1โดยหลักจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน

      ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่าย ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิลดลงจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในส่วนของรายได้เงินปันผลที่ลดลงจากฐานเงินปันผลที่สูงในไตรมาสก่อน

        รวมถึงค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน
ต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.69 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 1.09 

       ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.47