ได้เวลาเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารสัตว์ไทย สู่มาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืนระดับโลก

ได้เวลาเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารสัตว์ไทย สู่มาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืนระดับโลก

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ดันไทย ร่วมโครงการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ไทยเข้าสู่ระบบ “สีเขียว” ปี 2565-2569 รองรับความต้องการของตลาดในอนาคต นำร่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และมันสำปะหลัง

ไทย ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่มีสินค้าหลายรายการติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง กุ้ง อาหารทะเล เป็นต้น สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศจากมูลค่าการส่งออกมากกว่าล้านล้านบาทต่อปี และเป็นเป้าหมายของรัฐบาลไทยในการเดินหน้านำประเทศสู่การเป็น “ครัวของโลก”

แต่นอกเหนือจากความปลอดภัยของอาหารแล้ว วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ และต้องตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ มาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อเพิ่มเติม เหล่านี้คือความเสี่ยงของไทยในอนาคตทั้งสิ้น

 

การพัฒนาต้นทางวัตถุดิบในการผลิตเพื่อรองรับปัจจัยแวดล้อมใหม่ๆ ควรพุ่งเป้าไปที่พืชเศรษฐกิจหลักทั้งหมดที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ข้าว ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและดำเนินการเร่งด่วน

เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารและขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกอย่างยั่งยืน และต้องต้องบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบให้เกิดประสิทธิภาพและพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบองค์รวมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เรียกร้องรัฐบาลไทยมาหลายยุคหลายสมัย ขอให้ประกาศแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) เป็นมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำของการเกษตรไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำการเกษตรทั้งระบบ ตั้งแต่พัฒนาระบบการดูแล ควบคุม และตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยอาหารทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อาหารภายใต้มาตรฐานสากล

ตั้งแต่วัตถุดิบ การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การแปรรูป การผลิต การจัดจำหน่าย จนถึงผู้บริโภค ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สอดคล้องตามมาตรฐานโลก โดยขบวนการผลิตต้องปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ผลผลิตสูง เพิ่มประสิทธิด้านต้นทุนการผลิตและคุณภาพสินค้าอาหารไทยสู่การผลิตอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยคงต้องเร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเร่งด่วน และหามาตรการจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบ GAP  เนื่องประเทศคู่ค้ามีกฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวด (Trade Barriers) เพิ่มมากขึ้น เช่น "European Green Deal" หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลง 55 % ในปี 2030 เป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน การตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และการออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป  หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ด้วยการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 2565 ซึ่งเป็นแรงกดดันทางการตลาดที่เราต้องดำเนินการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่ออนาคตอันสดใสของสินค้าเกษตรไทยและผลิตภัณฑ์อาหาร

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน GAP ยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำของประเทศในการผลิตสินค้าเกษตร แต่เป็นการทำด้วยความสมัครใจ แบบใครใคร่ทำก็ทำ ใครไม่พร้อมทำก็ปล่อยไป คนทำก่อนก็เสียเปรียบไปแบกต้นทุนในอนาคตตั้งแต่วันนี้ ทำให้สถานะแชมป์โลกของไทยแกว่งไม่มั่นคง อาทิ เวียดนาม ก้าวข้ามไทยเรื่องข้าว ขณะที่ อินเดีย แซงหน้าไทยเรื่องกุ้ง ทั้งการผลิตและคุณภาพ ด้วยแรงสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจังของภาครัฐ พร้อมการกำหนดมาตรฐานที่เคร่งครัด ทั้งที่รัฐบาลประกาศว่าจะแข่งขันด้วยคุณภาพของสินค้ามามากกว่า 30 ปี

 

แม้แต่กลุ่มนักวิชาการ จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอผลการศึกษานโยบายทางการค้าสาหรับวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมของประเทศไทย ต่อกระทรวงพาณิชย์ ยังยกเรื่องมาตรฐาน GAP เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตในประเทศขาดแคลน ยกระดับราคาและการแข่งขันทางการค้าในอนาคต

 

ล่าสุด กรมปศุสัตว์ ตอบรับข้อเสนอของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยในการร่วมดำเนินโครงการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ไทยเข้าสู่ระบบ “สีเขียว” ระหว่างปี 2565-2569 เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต นำร่องด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และมันสำปะหลัง ตอบสนองความต้องการสินค้าที่ให้ความสำคัญกับการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำมาตรฐาน GAP มาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังและลงมือทำทันที เพื่อยกระดับมาตรฐานภาคการเกษตรไทยให้แข่งขันในยุคดิจิทัลและระบบการค้าเสรีได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน