เตรียมตัว ‘ยื่นภาษีปี 64’ ต้องรู้! ปีนี้ไม่เหมือนเดิม มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ?

เตรียมตัว ‘ยื่นภาษีปี 64’ ต้องรู้! ปีนี้ไม่เหมือนเดิม มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ?

สรุป 3 เรื่อง "ยื่นภาษี64" ของผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ต่างไปจากเดิม เมื่อรัฐบาลปรับลดเงินสมทบ "ประกันสังคม" รวมถึงลดอัตราการหัก "ภาษี ณ ที่จ่าย" ให้น้อยลง แถมยังมี "เงินเยียวยา" เพิ่มเติมจากมาตรการของรัฐด้วย.. แล้วแบบนี้ ต้องเตรียมเอกสารยื่นภาษีอย่างไร?

ช่วงปลายปีแบบนี้ ถึงเวลาที่หลายคนจะต้อง “คำนวณภาษี” เพื่อเตรียม “ยื่นภาษี” ปีภาษี 2564 ที่จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงปี 2565 สำหรับปีภาษี 2564 มีความแตกต่างจากปีก่อนหน้า เนื่องจากเป็นปีที่ภาครัฐออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบทางการเงินในช่วง “โควิด-19” ที่กลับมาระบาดอีกระลอก

โดยในมิติที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มี 3 เรื่องที่ผู้มีเงินได้จะต้องรู้และทำความเข้าใจ เพื่อวางแผนภาษีของตัวเองในปีนี้ได้ง่ายขึ้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” รวบรวม 3 สิ่งที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564 ที่แตกต่างไปจากปีก่อนหน้า ดังนี้

 

 1. ลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม 

โดยปกติแล้ว ผู้มีรายได้ที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้าไปในประกันสังคมทุกๆ เดือน จะสามารถนำจำนวนเงินที่สมทบเข้าประกันสังคมตลอดทั้งปี ในอัตราที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท ไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้

แต่ในปีนี้ ประกันสังคมมีนโยบายลดอัตราส่งเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมทุกมาตรา ทั้ง ม.33 ม.39 ม.40 ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถนำเงินส่วนนี้ไปลดหย่อนภาษีได้น้อยลงด้วย

การสรุปข้อมูลจากการประกาศลดการเก็บเงินสมทบ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” สรุปเบื้องต้นได้ว่า ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ประกันตน ม.33 จะสามารถยื่นลดหย่อนภาษีในส่วนของประกันสังคมได้สูงสุดที่ 5,100 บาทในปีภาษี 2564 (จากเดิมสูงสุด 9,000 บาท) 

เนื่องจากในปีนี้ ประกันสังคมมีนโยบายเรียกเก็บเงินสมทบลดลงในช่วงโควิด-19 ระบาด จากสูงสุดเดือนละ 750 บาท ดังนี้

- เดือน ม.ค. หัก 3% สูงสุด 450 บาท
- เดือนก.พ.-มี.ค. หัก 0.5% สูงสุด 75 บาท
- เดือนมิ.ย.-พ.ย. หัก 2.5% สูงสุด 375 บาท
- ธ.ค. ไม่ได้มีการแจ้งลดการหักเงินสมทบ จึงกลับมาคิดที่เต็มจำนวนเงินสมทบเดิมที่อัตรา 750 บาท

ส่วนผู้ประกันตน ม.39 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคมในปีภาษี 2564 ได้สูงสุดไม่เกิน 3,483 บาท เนื่องจากมีการลดการส่งเงินประกันสังคมในปีนี้จากเดิม 432 บาท 

- เดือน ม.ค.-มี.ค. 64 ลดสมทบเหลือ 278 บาท 
- เดือน เม.ย.-พ.ค. หักสมทบ 432 บาทตามเดิม
- เดือน มิ.ย.- ส.ค. 64 ลดสมทบเหลือ 216 บาท
- เดือน ก.ย.-พ.ย.64 ลดสมทบเหลือ 235 บาท
- เดือน ธ.ค. 64 ไม่ได้มีการแจ้งลดการหักเงินสมทบ จึงคิดการหักสมทบ 432 บาทตามเดิม

ขณะที่ผู้ประกันตน ม.40 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคมในปีภาษี 2564 ได้สูงสุดไม่เกิน 700, 1,000 และ 3,000 บาท ตามการสมทบทางเลือกที่ 1 ทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 ตามลำดับ

- เดือน ม.ค.-ก.ค. 64 จ่ายตามปกติ ทางเลือกที่ 1 = 70 บาท ทางเลือกที่ 2 = 100 บาท และทางเลือกที่ 3 = 300 บาท

- เดือน ส.ค.-ธ.ค. 64 ลดเงินสมทบประกันสังคมลง ทางเลือกที่ 1 = 42 บาท ทางเลือกที่ 2 = 60 บาท และทางเลือกที่ 3 = 180 บาท

ดังนั้น รวมเป็นทั้งปี 2564 ผู้ประกันตน มาตรา 33 จ่ายเงินสมทบรวมสูงสุด 5,100 บาท ซึ่งน้อยกว่าปกติอยู่ที่ 3,900 บาท 

ผู้ประกันตน มาตรา 39 จ่ายเงินสมทบรวมสูงสุด 3,483 บาท น้อยกว่าปกติอยู่ที่ 1,701 บาท 

และผู้ประกันตน มาตรา 40 จ่ายเงินสมทบรวม สำหรับทางเลือกที่ 1 สูงสุด 700 บาท น้อยกว่าปกติอยู่ที่ 140 บาท ทางเลือกที่ 2 สูงสุด 1,000 บาทน้อยกว่าปกติ 200 บาท และทางเลือกที่ 3 สูงสุด 3,000 บาทน้อยกว่าปกติ 600 บาท 

หมายความว่าผู้มีเงินได้ที่มีรายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564 จะมีตัวช่วยลดหย่อนภาษีได้น้อยลง และอาจจะมองหาสิ่งที่สามารถนำมาช่วยลดหย่อนภาษีจากส่วนอื่นๆ เพิ่มขึ้นในปีนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เช็คลิสต์ ‘ยื่นภาษี’ ปี 2564 ‘ลดหย่อนภาษี’ อะไรได้บ้าง ?

 2. หักภาษี ณ ที่จ่ายลดลง 

อีกหนึ่งมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เกิดขึ้นมาเป็นพิเศษในปีนี้คือการลดอัตรา “หักภาษี ณ ที่จ่าย” ในปี 2564 จากเดิม 3% ลดลงเหลือ 1.5-2% ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และเป็นไปตามประเภทของเงินได้ที่แต่ละคนได้รับ

กระทรวงการคลังให้ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก  1 ต.ค. 63 - 31 ต.ค. 64  ลดหักภาษี ณ ที่จ่ายจาก 3% เป็น 2% สำหรับผู้มีประเภทเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ดังนี้

- เงินได้ตามมาตรา 40(6) หักภาษี ณ ที่จ่าย 2%

เงินได้ประเภทที่ 6 คือ รูปของค่าตอบแทนจากการ ประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีจำนวนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย ซึ่งมี 6 อาชีพได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์

- เงินได้ตามมาตรา 40(7) หักภาษี ณ ที่จ่าย  2%

เงินได้ประเภทที่ 7 คือ ค่ารับเหมาที่มีการเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ โดยที่คุณเป็นผู้จัดหาทั้งแรงงาน เครื่องมือ และสัมภาระเอง เช่น รับเหมาก่อสร้าง, รับผลิตสินค้าตามแบบที่ลูกค้าต้องการโดยที่ปกติคุณไม่ได้ทำขายเป็นปกติทั่วไป เช่น ผลิตตามต้นแบบของลูกค้า

- เงินได้ตามมาตรา 40(8) ในส่วนจ้างทำของ รางวัล ส่วนลด ส่งเสริมการขาย หักภาษี ณ ที่จ่าย 2%

เงินได้ประเภทที่ 8 คือ เงินได้พึงประเมินที่ไม่สามารถจัดให้เข้ากลุ่มเงินได้ประเภทที่ 1 - 7 ได้ เช่น ขายของออนไลน์ เปิดร้านอาหาร กำไรจากการขายกองทุน LTF/RMF เงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้น ส่วนสามัญไม่จดทะเบียนและคณะบุคคล และอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ "การหักภาษี ณ ที่จ่าย" คือการ "หักภาษีล่วงหน้าบางส่วน" ตอนที่มีการจ่ายและรับเงิน หากมีผู้มีรายได้มีการยื่นภาษีแล้วเงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี หรือพบว่าถูกหักภาษีไว้มากกว่าจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายจริง จะสามารถขอรับเงินภาษีคืนจากที่เคยถูกหักไปก่อนหน้านี้ได้

ซึ่งผลจากการลดการหักภาษี ณ ที่จ่ายลดลง ช่วยให้ประชาชนถูกหักภาษีน้อยลง ณ เวลาที่ได้รับเงิน มีสภาพคล่องมากขึ้น แต่ในช่วงที่กำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ลดลง ทำให้ตัวเลขที่จะนำมาช่วยลดหย่อนต่ำลงไปด้วย ดังนั้นสำหรับคนที่ยังมีรายได้สุทธิอยู่ที่เกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี จึงควรวางแผนภาษีใหม่ หรือหาตัวช่วยอื่นๆ มาลดหย่อนภาษีในส่วนนี้แทน

 

 3. ได้รับ "เงินเยียวยา" จากมาตรการของรัฐ เสียภาษีเงินได้อย่างไร ? 

ในช่วงปี 2564 มีมาตรการเยียวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้ประชาชนหลายโครงการ ซึ่งผู้ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ได้รับสิทธิ์ใช้เงิน เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” “เราชนะ” “เราเที่ยวด้วยกันไม่ต้องนำเงินจำนวนนี้มา “ยื่นภาษี” และไม่ต้อง “เสียภาษี” แต่อย่างใด

เนื่องจากตามมมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ยกเว้นภาษีเงินได้โครงการรคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันไว้อยู่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือร้านค้า หากมีเงินได้ที่ถึงฐานก็ต้องเสียภาษีปกติ ซึ่งเป็นคนละกรณีกับบุคคลทั่วไป

 

ที่มา: