ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ตั้งเป้าพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ตั้งเป้าพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

ครม.รับทราบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566 - 2570 มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่า ครม.รับทราบสาระสำคัญร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญในระยะ 5 ปี ภายใต้หลักการและแนวคิดสำคัญ 4 ประการ คือ

1)หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

2)แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน

3)เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

และ 4)โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) รวมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย 

สำหรับวัตถุประสงค์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผล 5 ประการ คือ

1. การปรับโครงการสร้างผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

2. การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่

3. การมุ่งสู่สังคมโอกาสและความเป็นธรรม

4. การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

และ 5. การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ พร้อมกำหนด 13 หมุดหมายของการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ที่ชัดเจนใน 4 มิติ ดังนี้

1. มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย 6 หมุดหมาย คือ

1)ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง

2)ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3)ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน

4)ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง

5)ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค

6)ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน

2. มิติโอกาสและความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย 3 หมุดหมาย คือ 7)ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ 8)ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน 9)ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคน มีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

3. มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 2 หมุดหมายคือ 10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11)ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบ จากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

4. มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย 2 หมุดหมายคือ 12)ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 13)ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

รองโฆษกฯ รัชดากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. ประสานงานกับ สำนักงานประมาณ เพื่อกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ และให้ สศช. นำความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ครม. พิจารณาความเหมาะสมตามลำดับต่อไป