มุมมองสหรัฐในการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร (ศรีสุนทร)มานะสันต์

มุมมองสหรัฐในการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล | สุมาพร (ศรีสุนทร)มานะสันต์

ผู้เขียนมีโอกาสฟังเสวนาออนไลน์ “Policy Implication for Digital Asset Regulation : A Peek at Global Movements” จัดโดย สำนักงาน ก.ล.ต และเห็นว่าเนื้อหาการสัมภาษณ์พิเศษกรรมการ ก.ล.ต สหรัฐ Hester Peirce น่าสนใจเกี่ยวกับแนวทางการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล

ภาพรวมหน่วยงานกำกับในสหรัฐ
    โครงสร้างการกำกับดูแลในสหรัฐนั้นแตกต่างจากไทย เนื่องจาก Regulator หรือหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐมีทั้งระดับ Federal ซึ่งเป็นระดับรัฐบาลกลาง และ State ซึ่งเป็นระดับมลรัฐ อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่างๆ ได้ทำงานร่วมกันผ่านกลไกคณะทำงานที่เรียกว่า President’s working group on Financial Markets (PWG)

โดยสภาพสินทรัพย์ดิจิทัลมักมีความเชื่อมโยงหน่วยงานกำกับดูแลหลายหน่วยงานและในหลายระดับ ดังนั้น ในมุมมองของคุณ Peirce จึงเห็นว่าการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
    

นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ศึกษาโครงสร้างคณะทำงานด้านตลาดการเงินสหรัฐดังกล่าว และพบว่าได้ก่อตั้งโดยคำสั่งของประธานาธิบดี เรแกน ในปี 2531 เพื่อให้มีหน้าที่ศึกษาและรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับตลาดการเงินกับประธานาธิบดี ซึ่งได้มีบทบาทอยู่ในหลายวิกฤติการเงินในสหรัฐ และล่าสุดคณะทำงานก็ได้จัดทำรายงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ Stablecoins ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในโอกาสถัดไป

อะไรต้องกำกับ : หลัก Investment Contract

ในเบื้องต้น กลไกกฎหมายที่ใช้ในกำกับดูแลในสหรัฐแตกต่างจากไทย กล่าวคือสหรัฐไม่ได้มีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับดูสินทรัพย์ดิจิทัล (ซึ่งในไทยกฎหมายเฉพาะคือ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล) ดังนั้น การกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลในสหรัฐจึงอยู่ภายใต้หลักการพิจารณาเดียวกันกับการพิจารณาว่ากิจกรรมนั้นเป็น “หลักทรัพย์” หรือไม่ 

กฎหมายสหรัฐนิยามของ “หลักทรัพย์” ถูกกำหนดไว้ค่อนข้างกว้าง และเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเสนอขายและระดมทุนเกิดขึ้น หนึ่งในวิธีพิจารณาที่ ก.ล.ต.สหรัฐจะนำมาพิเคราะห์ว่ากิจกรรมนั้นต้องกำกับดูแลตามกฎหมายหรือไม่ คือหลักการที่เรียกว่า Howey Test ซึ่งมีที่มาจากการตัดสินคดีของศาลฎีกาสหรัฐในการวางข้อพิจารณาเพื่อทดสอบว่าธุรกรรมที่เอกชนดำเนินการนั้นมีลักษณะเป็น “สัญญาลงทุน” หรือ Investment contract หรือไม่

หลักการสำคัญของ Howey Test ที่ศาลสูงสหรัฐได้วางแนวทางการพิจารณา Investment Contract หรือการพิจารณา “ความเป็นหลักทรัพย์” ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่

1) ธุรกรรมนั้นเป็นการลงทุนด้วยเงิน 2) เป็นการลงทุนกับองค์กรธุรกิจทั่วไป 3) เป็นการลงทุนที่คาดหวังผลกำไรตอบแทน 4) เป็นการลงทุนที่เป็นผลมาจากการดำเนินการของผู้อื่น หรือพูดง่ายๆ ว่า เราได้ลงทุนไปโดยมีผู้อื่นซึ่งอาจเป็นองค์กรธุรกิจนำเงินนั้นไปบริหารจัดการต่อ ซึ่งให้ความคาดหวังในการให้ผลกำไรตอบแทนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งกับนักลงทุน

ดังนั้น เมื่อนำหลักการตาม Howey Test มาเทียบเคียงกับแนวทางการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต.สหรัฐ ที่ผ่านมาพบว่าสหรัฐจะพิจารณาจากลักษณะของกิจกรรมเป็นหลัก ดังนั้น หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้เสนอขายหรือระดมทุนด้วยสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไร หรือสินทรัพย์นั้นจะมีชื่อเรียกในทางเทคนิคอย่างไร 

หลักทดสอบในเรื่อง Investment Contract ในข้างต้นจะถูกนำมาปรับใช้เพื่อพิจารณาความเป็น “หลักทรัพย์” ของธุรกรรมนั้นเพื่อประเมินความจำเป็นของภาครัฐในการกำกับดูแล นอกจากนี้ เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจน ก.ล.ต.สหรัฐได้จัดทำแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้หลักการของ Investment Contract ไว้ ซึ่งได้เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2562

ในประเด็นความชัดเจนในการกำกับดูแลนี้ คุณ Peirce ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า สิ่งที่ต้องชัดเจนสองประการในการกำกับดูแลคือ 1) ความชัดเจนว่าอะไรที่เป็น “หลักทรัพย์” ซึ่งหากมีเกณฑ์ที่ชัดเจนก็จะเห็นภาพว่าอะไรคือสิ่งที่ควรต้องกำกับ 2) ความชัดเจนในการกำกับผู้ประกอบธุรกิจ กล่าวคือต้องทำความเข้าใจ ecosystem ของสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจที่อยู่รายรอบ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมให้กับผู้เล่นต่างๆ ที่อยู่ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่ ก.ล.ต.สหรัฐให้ความสนใจคือ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น exchange traded products หรือนำมาอ้างอิงในการซื้อขาย (เช่น กรณีของ Bitcoin Future ETF) ซึ่งในอนาคตจะมีเพิ่มมากขึ้น

กฎหมายต้องมีความเป็นกลางทางเทคโนโลยี

หลัก Technology Neutrality หรือหลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คุณ Peirce ได้ให้มุมมองว่า กฎหมายที่ใช้กำกับสินทรัพย์ดิจิทัลควรมีลักษณะของ Principle-based Approach คือ การกำหนดมาตรฐานหรือหลักการพื้นฐาน มากกว่าการบัญญัติในลักษณะของ Technology-based Approach หรือการใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการกำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าด้วยสภาพของสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้น หากระบุถึงเทคโนโลยีประเภทใดประเภทหนึ่งไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปและมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี ก็อาจเป็นอุปสรรคทั้งกับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ประกอบการ ดังนั้น บทบาทของภาครัฐจึงไม่ควรก้าวก่ายใน Technology space แต่มุ่งเน้นในการสร้างหลักการพื้นฐานในการกำกับดูแล โดยหากผลิตภัณฑ์ใดเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ก็ต้องอยู่ภายใต้กลไกกำกับดูแลตามกฎหมาย

การให้ความรู้ประชาชนในรูปแบบใหม่

การให้ความรู้ด้านการเงินกับประชาชน หรือ Financial Literacy เป็นสิ่งที่สำคัญมากประการหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มให้กับนักลงทุนในยุคดิจิทัล โดยการให้ความรู้ในรูปแบบเดิมผ่านหน้าเว็บไซต์อาจยังไม่เพียงพอในการสร้างความรู้ให้กับนักลงทุน ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจจากบทเรียนของสหรัฐ คือ การใช้ Interactive tool และการสร้างเพจปลอมที่มีรูปแบบคล้ายการเสนอขาย ICO จริงๆ และมีการเสนอขายเหรียญสมมติที่ถูกตั้งชื่อว่า Howeycoins เมื่อคลิก “buy now” จะมีข้อความแสดงให้นักลงทุนทราบว่านี่คือ ICO scams 

วิธีการนี้เป็นอีกวิธีการที่สร้างสรรค์และน่าสนใจในการให้ความรู้ประชาชนในยุคที่นักลงทุนอาจศึกษาข้อมูลผ่านข้อความ Risk Alerts ต่างๆ น้อยลง

ท้ายที่สุด ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมุมมองจากสหรัฐในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ ผ่านงานเสวนาออนไลน์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ได้นำเสนอมุมมองและประสบการณ์ของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศที่น่าสนใจ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อทั้งหน่วยงานกำกับดูแลและนักลงทุนต่อไป