กฟผ.เร่งแผน EV ปี 65 ลุยปั๊มชาร์จ 140 แห่ง

กฟผ.เร่งแผน EV ปี 65 ลุยปั๊มชาร์จ 140 แห่ง

“กฟผ.” ขานรับนโยบายรัฐบาลหนุนประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ปรับเป้าลุยขยายสถานีชาร์จไฟฟ้ากว่า 140 แห่งในปี 2565 ตอบโจทย์กลุ่มคนใช้รถEV ให้ครอบคลุมทุกเส้นทาง ระบุ หลังเปิดให้บริการเดือนมี.ค.2564 ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปแล้วกว่า 10 ตันคาร์บอน

ขณะนี้ทุกภาคส่วนตั้งเป้าหมายเพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในขณะที่ประเทศไทย มีแผนผลักดันการผลิตรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิต ในปี 2573 (ปี ค.ศ.2030) ที่ถือเป็นกลไกที่จะนำพาไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ของไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการผลิตและการใช้งาน พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดย กฟผ. มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ช่วย และผู้เชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมพลังงานที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับแผนติดตั้ง   EV charging station ของ กฟผ. โดยขณะนี้ได้ติดตั้งเสร็จสิ้น และได้เปิดให้บริการแล้วจำนวน 18 สถานี และอยู่ระหว่างก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2564 จำนวน 22 สถานี รวมเป็น 40 สถานี และมีแผนติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2565 จำนวน 30 สถานี นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีแผนการลงทุนที่จะสร้างเพิ่มเติมในปี 2565 อีกจำนวน 70 สถานี แบ่งเป็นสถานีชาร์จ EV กระแสสลับ (AC) ตามบ้านจำนวน 50 สถานี และกระแสตรง (DC) สถานีชาร์จEV จำนวน 20 สถานี ทั้งนี้ หลังจาก กฟผ.เริ่มเปิดให้บริการสถานีชาร์จEV ตั้งแต่เดือนมี.ค.2564 ที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้รถ EV และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทดแทนการใช้รถเครื่องยนต์สันดาปได้แล้วกว่า 10 ตันคาร์บอน  

“กฟผ.ได้วางแผนในระยะต่อไปที่จะขยายจำนวน EV ทั้งในพื้นที่โรงไฟฟ้า หรือเขื่อนของ กฟผ.เอง และพื้นที่พันธมิตรต่างๆ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งจะสนับสนุนการใช้งาน EV และการเดินทางในเส้นทางหลักทั่วประเทศ และหากว่าเป็นไปตามแผนการดังกล่าว คาดว่าจะสามารถขยายสถานีชาร์จ EV เป็น 140 แห่งในปี 2565”

กฟผ.เร่งแผน EV ปี 65 ลุยปั๊มชาร์จ 140 แห่ง

ทั้งนี้ กฟผ.มุ่งตอบโจทย์การใช้รถEV ใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. การใช้ EV เดินทางระหว่างจังหวัด (Highway) ด้วยสถานี EleX by EGAT ในพื้นที่ กฟผ. และสถานีบริการน้ำมัน PT 2. การใช้ชีวิตด้วย EV ในเมือง (Intown) ด้วยสถานี EleX ในเขต กทม.และเมืองใหญ่ โดยติดตั้งสถานี EV ในพื้นที่ กฟผ.สำนักงานใหญ่ และที่ศูนย์การเรียนรู้พระราม 7 รวมถึงในสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. จ.เชียงใหม่ และ 3. การขนส่งเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนภาครัฐ และเอกชน ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง สร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับผู้ให้บริการขนส่งต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการขนส่ง, Food Delivery ทั้งรถขนส่ง รถบรรทุก และรถมอเตอร์ไซค์ ที่กำลังมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนไปใช้รถ EV ในอนาคต

นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นภายใต้แบรนด์ “EleXA” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเสมือนผู้ช่วยในทุกการเดินทางด้วยรถ EV ที่จะทำให้การค้นหาสถานี การชาร์จ การจอง และจ่ายเงินของผู้ใช้รถ EV เป็นเรื่องง่าย และยังมีระบบส่งเสริมการขาย โดยการสะสมแต้มแลกสิทธิพิเศษต่างๆ ครอบคลุมทุกความต้องการในแอพพลิเคชั่นเดียว ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ทั้งในระบบ App Store และ Play Store อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ๆ อาทิ ระบบวางแผนการเดินทาง, ระบบจองจุดจอดรถอัจฉริยะในเมือง ระบบการแลกแต้มเพื่อเป็นส่วนลดในผลิตภัณฑ์ของ กฟผ.และพันธมิตรธุรกิจ เป็นต้น เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้เคยตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จให้ครบ 48 สถานี บนเส้นทางทุกๆ 200 – 250 กิโลเมตร ภายในปี 2564 และจะติดตั้งให้ครบ 90 สถานี ภายในปี 2565

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์