เทียบกันชัดๆ ข้อแตกต่าง “รถ EV“ vs “รถน้ำมัน”

เทียบกันชัดๆ ข้อแตกต่าง “รถ EV“ vs “รถน้ำมัน”

เมื่อนานาประเทศต่างประกาศลดโลกร้อน โดยเฉพาะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกสำคัญ

และยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้ ราคาน้ำมัน ที่ผันผวนและปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนผู้ใช้รถบนท้องถนนและใช้ น้ำมัน จะเบนซินหรือดีเซล คงเริ่มสนใจอยากหันไปใช้ รถยนต์ไฟฟ้า กันบ้าง เพราะนอกจากจะช่วย ประหยัดค่าน้ำมัน แล้ว ยังลดการปล่อยมลพิษบนท้องถนนและ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT ในฐานะของผู้ผลิตไฟฟ้ามีข้อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง รถEV และรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ก่อนที่จะเปลี่ยนใจไปขับรถ EV ออกมาเป็นข้อๆ คือ

แหล่งพลังงาน

รถยนต์ไฟฟ้า : ชาร์จไฟได้จากที่บ้านโดยการสามารถติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว หรือสามารถหาสถานีชาร์จโดยขณะนี้ทั้งภาครัฐ เอกชน เริ่มขยายการติดตั้งเพิ่มมากขึ้น ส่วนระยะเวลาในการชาร์จปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 1 ชม. หรือมากกว่านั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ และกำลังไฟฟ้าของเครื่องชาร์จด้วย

รถยนต์น้ำมัน : เติมน้ำมันได้ที่สถานีบริการน้ำมันทั่วไป ใช้เวลาในการเติมน้ำมันไม่นาน

การซ่อมบำรุง

รถยนต์ไฟฟ้า : ชิ้นส่วนทั้งคันน้อย ซ่อมบำรุงได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย

รถยนต์น้ำมัน : ใช้อะไหล่จำนวนที่มากกว่า และเครื่องยนต์มีความซับซ้อน เมื่อเกิดปัญหาสามารถซ่อมได้ที่อู่รถยนต์ทั่วไป

การใช้งานทั่วไป

รถยนต์ไฟฟ้า : เครื่องยนต์เงียบ และมีอัตราการเร่งดีกว่า

รถยนต์น้ำมัน : มีเสียงดังกว่า และมีการกระชากจากเครื่องยนต์

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รถยนต์ไฟฟ้า : ไม่ปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

รถยนต์น้ำมัน : ปล่อยมลพิษหากเป็นรถยนต์รุ่นเก่า หรือได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ กฟผ. สนับสนุนสังคมการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมให้บริการสถานีสถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” กว่า 14 แห่ง และอนาคตในปี 2565 มีแผนให้บริการทั่วประเทศครอบคลุมทุกพื้นที่

นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีทีมให้คำปรึกษาสำหรับผู้ใช้ รถEV ที่สนใจติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน เพราะปัจจุบันกฟผ. มีเครื่องชาร์จ “EGAT+Wallbox” ขนาดเล็กกะทัดรัด ดีไซน์ทันสมัยให้ใช้งานง่ายมีมาตรฐานและพร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าลงพื้นที่ไปติดตั้งให้ที่บ้านได้ทันที

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV charging station) ที่จำเป็นต้องมีอย่างเพียงพอและครอบคลุมในทุกๆ เส้นทาง ไม่ต่างจากสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้การใช้รถ EV ในชีวิตประจำวันสะดวกสบายและอุ่นใจต่อผู้ใช้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ส่วนประกอบที่สำคัญของรถEV 40% จะอยู่ที่แบตเตอรี่ รัฐบาลจะสนับสนุนการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เข้ามาร่วมมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามาส่งเสริม

นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ต่างมุ่งไปสู่การร่วมกับภาคเอกชนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV และเพิ่มสถานีชาร์จโดยปัจจุบันมีแล้วประมาณ 2,000 แห่ง และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 1,200 แห่งในเวลาไม่เกิน 10 ปีจากนี้

ส่วนประชาชนที่ต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จ EV ที่บ้าน ก็สามารถติดต่อขอรับเงื่อนไขการใช้ไฟต่างๆ ได้ คาดว่าไม่เกินเดือนธ.ค.2564 คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) จะปรับแพคเกจเพื่อจูงใจและสนับสนุนทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้EV ได้อย่างลงตัว

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้วางแผนติดตั้ง EV charging station ของกฟผ. โดยขณะนี้ได้ติดตั้งเสร็จสิ้นและได้เปิดให้บริการแล้วจำนวน 18 สถานี และอยู่ระหว่างก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี2564 จำนวน 22 สถานี รวมเป็น 40 สถานี และมีแผนติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2565 จำนวน 30 สถานี

นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีแผนการลงทุนที่จะสร้างเพิ่มเติมในปี2565 อีกจำนวน 70 สถานี แบ่งเป็นสถานีชาร์จ EVกระแสสลับ (AC) ตามบ้านจำนวน 50 สถานี และกระแสตรง (DC) สถานีชาร์จEV จำนวน 20 สถานี รวม 140 แห่งในปี 2565

ทั้งนี้ หลังจากกฟผ.เริ่มเปิดให้บริการสถานีชาร์จEV ตั้งแต่เดือนมี.ค.2564 ที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้รถ EV และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทดแทนการใช้รถเครื่องยนต์สันดาปได้แล้วกว่า 10 ตันคาร์บอน ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายในการสร้าง EV Ecosystem ให้สำเร็จในอนาคตต่อไป

พร้อมเดินหน้าขยายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้านอกสถานีบริการน้ำมันกว่า 1,000 เครื่อง ภายในปี 2565  ตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้นำนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคตของ กลุ่ม ปตท. รองรับการเติบโตตลาด ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ตอบโจทย์ผู้ใช้ EV ให้พลังงานทางเลือกอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นภายใต้แบรนด์ “EleXA” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสถานี การชาร์จ การจอง และจ่ายเงินเป็นเรื่องง่าย และยังมีระบบส่งเสริมการขาย โดยการสะสมแต้มแลกสิทธิพิเศษต่างๆ ครอบคลุมทุกความต้องการในแอพฯ เดียว ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ทั้งในระบบ App Store และ Play Store

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ กรรมการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจใหม่ของ ปตท. ได้มุ่งขยายเครือข่าย สถานีชาร์จEV ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ในพื้นที่ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน เพื่อรองรับรถยนต์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV : Plug-in Hybrid) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV: Battery Electric Vehicle) ทุกรุ่น ทุกแบรนด์ ที่มีหัวชาร์จแบบ Type 2 

ทั้งนี้ สามารถจองและควบคุมการใช้งานผ่าน on-ion Mobile Application ที่รองรับทั้งระบบ Android และ iOS มีแผนขยายสถานีEV นอกสถานีบริการน้ำมันกว่า 1,000 เครื่อง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในปี 2565 พร้อมบริการติดตั้ง PTT EV Charger ในที่พักอาศัยด้วย