เช็คฐานะ "สินมั่นคง-ไทยประกันภัย-เดอะวัน” ขอเสริมสภาพคล่องจ่ายเคลมโควิด

เช็คฐานะ "สินมั่นคง-ไทยประกันภัย-เดอะวัน” ขอเสริมสภาพคล่องจ่ายเคลมโควิด

เช็คฐานะ "สินมั่นคง-ไทยประกันภัย-เดอะวัน” หลังคปภ.ไฟเขียว เข้ามาตรการเสริมสภาพคล่อง "สุทธิพล" เผย 3 บริษัทก่อนเข้าร่วมโครงการ เคลียร์จ่ายเคลมโควิดไปบางส่วนแล้ว ส่วนในภาพรวมจ่ายไปคืบหน้ามาก แต่ก็ยังพบปัญหามีเคลมเข้ามาต่อเนื่อง ด้าน "เดอะวัน"ยันจ่ายแล้ว 2.4พันล้าน

หลังจากเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมานี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ประกาศรายชื่อ 3 บริษัทประกันวินาศภัย "สินมั่นคงประกันภัย-เดอะวันประกันภัย-ไทยประกันภัย” เข้ารับการผ่อนผันตามมาตรการเสริมสภาพคล่อง เพื่อจ่ายเคลมประกันโควิดให้กับประชาชน มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2564 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ทั้งนี้ หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะยกเลิกมาตรการผ่อนผันทันที

ล่าสุด "สุทธิพล ทวีชัยการ"เลขา คปภ. กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ามาตรการผ่อนผันดังกล่าว จะช่วยเสริมความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจให้กับทั้ง 3 บริษัทที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันโควิด-19 เป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องลุกลามจนส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ยื่นเคลมประกันโควิด-19 ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ.1186 หรือ www.oic.or.th 

ขณะที่การจ่ายเคลมสินไหมประกันภัยโควิด ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปอย่างมาก แต่ปัญหาคือยังมีการแจ้งเคลมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางคปภ. ได้มีการประชุมกับทั้ง 3 บริษัททุกสัปดาห์และก่อนเข้าร่วมโครงการ ได้ให้บริษัทเร่งดำเนินการจ่ายเคลมสินไหมที่บางส่วนแล้ว 

 

 

สำหรับ 3 บริษัทประกันภัยดังกล่าว จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าผู้ถือหุ้นของบริษัท รวมถึงในส่วนของข้อมูล อัตราความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR) จากเว็บไซต์สมาคมประกันวินาศภัยไทย  (ข้อมูลล่าสุด ณ 23 ก.ย.3564)  พบดังนี้ 

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ  SMK   

ผู้ถือหุ้นใหญ่   ( ณ 10 มี.ค. 2564)

1.บริษัท ดุษฎีสุรพจน์ โฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 25.02%

2. MINDO ASIA INVESTMENTS LIMITE สัดส่วน10.8%

3. EUROCLEAR NOMINEES LIMITED สัดส่วน 10.88%

4. นาง ศิวะพร ดุษฎีสุรพจน์  สัดส่วน 8.58%

5. นายเรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์ สัดส่วน 7.49%

อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR)

ปี 62   414.78%

ปี 63   458.15%

ปี 64    ไตรมาส 1  443.18%

            ไตรมาส 2   275.12%

 

 

บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ผู้ถือหุ้นใหญ่  ( ณ 16 มี.ค.2564)

บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  สัดส่วน 93.437%

นางนิตยา บุรณเวช สัดส่วน 0.76%

อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR)

ปี 62  171.84%

ปี 63   506.32%

ปี 64    ไตรมาส 1    514.86%

            ไตรมาส 2   275.12%

สำหรับ “ไทยประกันภัย”  เป็นที่รู้กันว่า กลุ่ม เครือไทย โฮลดิ้งส์  หรือ TGH ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ ตกลงที่ควบรวมกิจการกับไทยประกันภัย เป็นดีลใหญ่มาแล้วเมื่อปี2561 เพื่อนำ TGH เข้าตลาดฯแทน  และในช่วงโควิดที่ผ่านมา ไทยประกันภัย เป็นหนึ่งในบริษัทประกัน ที่เปิดขายประกันภัยโควิด “เจอจ่ายจบ” เป็นจำนวมาก นอกจากนี้ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมานี้ บริษัทประกัน ในเครือ TGH กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อ “อาคเนย์ประกันภัย เพิ่งถูกผู้เอาประกันบุกทวงค่าเคลมประกันภัยโควิด “เจอจ่ายจบ” นั่นเอง

บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ผู้ถือหุ้นใหญ่  ( ณ 1 ต.ค.2564)

1.นาย พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล  สัดส่วน 21.0902%
2.นาง สุณี ศรีอรทัยกุล  สัดส่วน  20.9546%
3.นาย สุรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล  สัดส่วน 20.9546%
4.นาย สุริยน ศรีอรทัยกุล  สัดส่วน 20.9546%
5.บริษัท บิวตี้เจมส์แฟคตอรี่ จำกัด  สัดส่วน 8.2536%
6.บริษัท บิวตี้เจมส์ เซนเตอร์ จำกัด สัดส่วน 5.9995%

อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR)

ปี 64     ไตรมาส 2   109.96%

เช็คฐานะ \"สินมั่นคง-ไทยประกันภัย-เดอะวัน” ขอเสริมสภาพคล่องจ่ายเคลมโควิด

มาถึงคิว “ เดอะ วัน ประกันภัย” เป็นหนึ่งในบริษัทประกัน มีผู้เอาประกันจำนวนมากเดินทางมาทำเรื่องเคลมประกันโควิด  ”เจอ จ่าย” ในช่วงเดือนก.ย.เช่นกัน  ขณะที่ “อรัญ ศรีว่องไทย”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เดอะวันประกันภัย ได้ออกมาชี้แจ้งกรณีดังกล่าวด้วยตนเองมาตลาดในการเร่งทยอยจ่ายค่าสินไหม

ล่าสุด "อรัญ"  ยืนยันว่า ก่อนหน้านี้เราได้เร่งทยอยจ่ายสินไหมแล้วกว่า 2.4 พันล้านบาท แต่ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดยังคง ทำให้ยังมีผู้เอาประกันเข้ามายืนเคลมสินไหมทุกวัน และยังมีสินไหมค้างจ่ายเดิมอยู่ เราก็เร่งจ่ายสินไหมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีที่บางส่วนยังไม่ได้จ่ายเงิน เพราะต้องมีการตรวจสอบเอกสาร ซึ่งยังมีไม่ครถ้วนหรือเรื่องรอผลแลป  

ส่วนกรณีการเข้ามาตรการผ่อนผันทางการเงิน ถือเป็นวิธีการเตรียมสภาพคล่องส่วนหนึ่ง เพื่อสามารถจ่ายค่าสินไหมที่อาจจะเกิดขึ้นเพิ่มอีกหลังจากนี้ หลังจากกันเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้มีการกู้เงินนำมาพิ่มทุนไปแล้วราว 1 พันล้านบาท และในอนาคตประเมินว่า ยังอาจต้องเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับให้เพียงพอ เป็นเงินที่ต้องสำรองขั้นต่ำอีกราว 1-2 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ถือหุ้น เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป    

อนึ่ง มาตรการเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการดำเนินงานให้กับบริษัทประกันวินาศภัย 7 มาตรการ ดังนี้

1.ยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากการรับประกันภัย COVID-19
2.ให้สามารถนับเงินกู้ยืมด้อยสิทธิตามลักษณะที่กำหนดมาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้                              3.ผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำ
4.ยกเว้นการนำค่าเผื่อความผันผวนที่เรียกว่า provision of adverse deviation (PAD) มาคำนวณเงินกองทุน
5.สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้ในเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง
6.สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้ในการคำนวณเงินสำรอง
7.อนุญาตให้บริษัทมีสัดส่วนของเงินสดและเงินฝากธนาคารที่บริษัทใช้สำหรับการบริหารสภาพคล่องได้เกินร้อยละ 5

" 7 มาตรการ"  เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัยมีสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้เพิ่มสูงขึ้น ด้วยการลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จาก Buffer ที่ตั้งไว้ ผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และยังเพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทในการจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นที่บริษัทสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าการเพิ่มทุน และลดภาระค่าธรรมเนียมในการฝากเงินกับสถาบันการเงินของบริษัท นอกจากนี้ ยังทำให้บริษัทประกันภัยมีเวลามากขึ้นในการดำเนินการปรับปรุงฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัทให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ บริษัทสามารถยื่นคำขอใช้มาตรการผ่อนผันได้ โดยประกาศฯ ได้กำหนดลักษณะของบริษัทประกันวินาศภัยที่สามารถยื่นคำขอใช้มาตรการผ่อนผันไว้ 2 ประการ คือ ต้องมีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 เป็นจำนวนมากกว่า 500 ล้านบาทก่อนการยื่นขอผ่อนผัน และ มีการประมาณการว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 อาจต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ บริษัทจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้ มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ไม่น้อยกว่า 75% ของเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่มีการยื่นต่อสำนักงาน คปภ. และมีเงินกองทุน และ/หรือสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19

บริษัทที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดข้างต้นสามารถยื่นคำขอผ่อนผันต่อนายทะเบียน โดยจะต้องจัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขฐานะการเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนต่อนายทะเบียนทุก 15 วัน และต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเพียงพอของเงินกองทุน กระบวนการในการบริหารเงินกองทุนของบริษัท และการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุน รวมถึงการประเมินหนี้สินจากสัญญาประกันภัย โดยเปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังใช้มาตรการผ่อนผันตามประกาศนี้ด้วย

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรวม 3 ชุด เพื่อกำกับดูแล กลั่นกรองพิจารณาคำขอ และตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ได้รับการผ่อนผัน ดังนั้น  หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด นายทะเบียนมีอำนาจยกเลิกมาตรการผ่อนผันได้ทันที