นับถอยหลัง Golden Period ราคาบ้าน-คอนโดขยับ!

นับถอยหลัง Golden Period ราคาบ้าน-คอนโดขยับ!

 หลังผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส3 อสังหาฯช่วง2 เดือนสุดท้ายปี64ได้รับสัญญาณบวกที่มาพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ราคาเหล็ก วัสดุก่อสร้างรวมถึงค่าแรงคนงานพุ่งขึ้นจนไม่สามารถตรึงราคาอีกต่อไปได้ จึงใกล้ถึงเวลาที่ราคาบ้าน-คอนโดขยับขึ้น

 หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส3 ปีนี้ตลาดอสังหาฯ ส่งสัญญาณบวกจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขคนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ปลดล็อกแอลทีวี เปิดประเทศ พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ราคาเหล็ก วัสดุก่อสร้างรวมถึงค่าแรงคนงานขยับขึ้นยกแผง.... ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แน่นอน

เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด โควิด-19 กิจกรรมต่าง ๆ หยุดชะงัก! ไม่ต่างกับธุรกิจรีเทล ร้านอาหาร ยิ่งช่วงโควิดระลอกแรกที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์

ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ตัดสินใจหั่นราคาขายลงมาเพื่อเร่ง  ระบายสต็อกโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมจึงเป็น “โอกาสทองของผู้ซื้อ” หรือ Golden Period ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาถูกลงแบบสมเหตุสมผล จากก่อนหน้านี้ที่ราคาคอนโดมิเนียมพุ่งขึ้นเกินกำลังซื้อคนไทย เกิดจากดีมานด์คนจีนที่เข้ามา

อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจปกติโครงการคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ทุกทำเลจะมีการปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 5-10% ต่อปี นั่นหมายความว่า ราคาคอนโดมิเนียมขยับสูงขึ้นทุกปี

แต่หลังจากเกิดวิกฤติโรคระบาดราคาคอนโดมิเนียมปรับตัวลดลงทุกพื้นที่!! รวมถึงจำนวน "ลดลง"  เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แตะเบรค
 

คอนเฟิร์มได้จากตัวเลขการสำรวจของ ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย ระบุว่า ระดับราคาเสนอขายคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ปรับตัวลดลงในทุกพื้นที่จากไตรมาสแรก โดยราคาขายคอนโดมิเนียมในบริเวณศูนย์กลางธุรกิจอยู่ที่ 240,609 บาทต่อตารางเมตรปรับตัวลดลง 9.8%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า หรือลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ส่วนราคาขายคอนโดมิเนียมบริเวณรอบเขตศูนย์กลางธุรกิจอยู่ที่ตารางเมตรละ 116,225 บาท ปรับตัวลดลง 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 และลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เช่นเดียวกับคอนโดมิเนียมย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ราคาขายต่อตารางเมตรอยู่ที่ 64,390 บาท ปรับตัวลดลง 19.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และลดลง 6.2% จากไตรมาสแรก

ยิ่งเมื่อเกิดโควิดระลอก 3 และ 4 การแพร่ระบาดของโควิดยังคงรุนแรงและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้กลายเป็นปัจจัยลบที่กดดันการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมและกำลังซื้อลดลงตามไปด้วย ทำให้ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเป็น"โอกาสทอง"ของผู้บริโภคในซื้อคอนโดมิเนียมในราคาที่คุ้มค่า!
 

ทว่า หลังไตรมาส 3 ปี 2564 ถือเป็น จุดต่ำสุด (Bottom out) ของตลาดอสังหาริมทรัพย์แล้ว เริ่มสัญญาณบวกจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายตัวเลขคนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศปลดล็อกมาตรการแอลทีวีออกไป 1 ปี รัฐบาลเปิดประเทศ ทุกอย่างดูดีขึ้น พร้อมกันนี้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ราคาเหล็ก วัสดุก่อสร้างรวมถึงค่าแรงคนงานขยับขึ้นยกแผง! ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่า แต่ชั่วคราวเท่านั้น !

 

เพราะอีกไม่นาน ทุกอย่างต้องกลับเข้าสู่กลไกตลาดและความเป็นจริง ล่าสุด อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการค่ายแสนสิริ คาดการณ์ว่า ปีหน้าราคาอสังหาริมทรัพย์ดีดตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงบวกกับภาวะเงินเฟ้อ สอดคล้องกับ ดิฐวัฒน์ อิสสร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานสร้างสรรค์สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ ประเมินว่า 2 ปีต่อจากนี้ดีมานด์จะมากกว่าซัพพลาย เช่นเดียวกับที่วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ระบุว่า ปี64 ราคารับสร้างบ้านปรับขึ้น3 - 5% ตามต้นทุนวัสดุที่เพิ่มขึ้น

นั่นหมายความว่า ราคาบ้านและคอนโดมิเนียมแพงขึ้น!!