ทีดีอาร์ไอเปิดโมเดลพัฒนาประเทศดันจีดีพีเพิ่มอย่างน้อย 2%

ทีดีอาร์ไอเปิดโมเดลพัฒนาประเทศดันจีดีพีเพิ่มอย่างน้อย 2%

“ทีดีอาร์ไอ” เปิดโมเดลพัฒนาประเทศใหม่ฟื้นศก.หลังโควิด ต่อเติม 4 เรื่องสำคัญปฏิรูปภาครัฐ-เพิ่มคุณภาพประชากร-ลดความสูญเสีย-เพิ่มผลิตภาพการผลิต เพิ่มจีดีพีได้อย่างน้อยอีก 2% กลายเป็นประเทศรายได้สูงใน 20 ปี

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2021 ของทีดีอาร์ไอในหัวข้อ "โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19ฟื้นฟู-ต่อเติมเพื่อเติบโต" วันนี้ (2 พ.ย.)ว่าการระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน และทำให้ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด-19 จะลดลงเหลือแค่ 2% เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยจึงจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟู และพัฒนาต่อเนื่องให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยไม่สามารถที่จะใช้โมเดลทางเศรษฐกิจแบบเดิมในการแก้ไขปัญหาได้ 

 

 

ในการเพิ่มจีดีพี 2% ด้วยการปรับโมเดลการพัฒนาแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่ 1.เพิ่มจีดีพี 0.25% มาจากการปฏิรูปภาครัฐ 

และแก้กฎระเบียบที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคในการทำมาหากินของประชาชน ลดกฎหมายที่ไม่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาการกิโยติน1,094กระบวนงานของการอนุญาต198เรื่องได้จะช่วยลดต้นทุนลงปีละ1.3แสนบาท และเพิ่มจีดีพีได้อีก0.8%โดยรัฐและประชาชนจะได้ประโยชน์โดยตรง

2.เพิ่มจีดีพี 0.25% มาจากการเพิ่มคุณภาพประชากร ได้แก่ โดยเริ่มจากการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการเลี้ยงดูและมีทักษะที่ดีอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการลดอัตราเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเด็กมากถึง1.1ล้านคนที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษาของประเทศ พร้อมกันนี้ยังต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา และฝึกทักษะแรงงานที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

 

3.เพิ่มจีดีพี 0.6% มาจากการลดความสูญเสียของประชากร เช่น ลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นจากอุบัติเหตุลงให้ได้อย่างน้อย50%ใน5ปี ซึ่งประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงอันดับต้น ๆ ของโลก รวมทั้งลดความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อให้ได้25%ใน10ปี เพราะแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตหลายแสนคน โดยเฉพาะคนจนเป็นคนที่เจ็บป่วยและทุกข์ทรมานมากที่สุด เช่น โรคที่เกิดจากฝุ่น PM2.5ทำให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 30,000คน และลดการเกณฑ์ทหารลง 50% เพราะปัจจุบันคนไทยยังมีความสูญเสียจากการถูกเกณฑ์ทหาร ปีละประมาณ8หมื่นคน ถือเป็นการทำงานที่ไม่สร้างผลิตภาพ และประเทศไทยก็เป็นประเทศส่วนน้อยในโลกที่มีการเกณฑ์ทหาร

และ 4.เพิ่มจีดีพี 0.9% จากการเพิ่มผลิตภาพ เช่น การลงทุนฟื้นฟูแหล่งการท่องเที่ยว การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว การทำโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น โดยเฉพาะเพิ่มแหล่งน้ำมากขึ้น ส่งเสริมการทำเกษตรอัจฉริยะ เพิ่มภาคบริการที่มีประสิทธิภาพ