“โลกร้อน-โควิด” เกม เชนเจอร์ส ธุรกิจเครื่องจักร การเกษตร สยามคูโบต้า

“โลกร้อน-โควิด” เกม เชนเจอร์ส  ธุรกิจเครื่องจักร การเกษตร สยามคูโบต้า

โควิด-19 ทำให้ตระหนักถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร ในขณะที่ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวใน 30 ปีข้างหน้า แต่พื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด สภาพอากาศที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องท้าทายของภาคการเกษตร สยามคูโบต้าจึงมุ่งผลิตเครื่องจักรให้สอดรับกับสถานการณ์เหล่านี้

วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด  เปิดเผยว่า จากโควิดที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มที่ดี แต่สินค้าบางตัวอาจจะได้รับผลกระทบจากค่าขนส่ง และค่าเงินบาทแข็งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าในประเทศที่ทำการเกษตรยังเติบโตอยู่ได้ ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจของคูโบต้า

ในภาพรวม 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรในอาเซียนยังอยู่ระดับที่ดี ในประเทศมีการเติบโตมากขึ้น รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้จากผลกระทบสภาพเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีคนนอกภาคเกษตรกลับมาทำการเกษตรมากขึ้น จึงต้องการเครื่องจักรกลการเกษตร และเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำงานมากขึ้น

การขายเครื่องจักรมีการปรับตัวดีขึ้น แต่มีความท้าทายช่วงโควิดจะมี 3 ส่วนหลักๆ คือ เรื่องรายได้ของลูกค้านอกภาคการเกษตรที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอาจจะมีผลต่อกำลังซื้อของลูกค้าในอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ตามสยามคูโบต้า ได้พยายามช่วยเหลือด้วยการปรับนโยบายสินเชื่อด้านต่างๆ

เรื่อง supply chain ที่มีปัญหาทั่วโลก เรื่องการปิดโรงงานช่วงมีการระบาดของโควิด ทำการการผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย การขนส่งระหว่างประเทศที่ราคาปรับตัวสูง หาตู้คอนเทนเนอร์ได้ยากขึ้น เกิดความล่าช้าในการขนส่ง และเรื่องการทำงานในช่วงล็อกดาวน์ การออกไปหาลูกค้า ไปให้บริการบางส่วนอาจจะติดขัดบ้าง แต่บริษัทก็มีการนำระบบดิจิทัลต่างๆ มาใช้เพื่อให้การทำงาน WFH ทำได้อย่างราบรื่น และตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงนี้ลูกค้าเข้ามาซื้อเครื่องจักรมากขึ้น พบว่าส่วนมากเป็นเกษตรกรที่อาชีพหลักคือ การเกษตรที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่กลุ่มที่ใช้รายได้นอกภาคเกษตรก็จะมีปัญหาบ้างเรื่องการชำระเงิน หากเป็นลูกค้าของบริษัท สยามคูโบต้า ลิสซิ่ง ก็มีการช่วยเหลือด้วยมาตรการต่างๆ” 

แนวโน้มการใช้งานของลูกค้าปัจจุบันบางส่วนที่มีการหันมาใช้สื่อออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย และดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการเกษตร แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของกลุ่มเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer

สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มีความพร้อมในการซื้อเครื่องจักร หรือมีพื้นที่น้อยไม่คุ้มกับการซื้อ ปัจจุบันทางสยามคูโบต้าได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรได้ง่ายขึ้น ได้แก่  Machine Matching Platform หรือแอพพลิเคชั่นสำหรับจองบริการเครื่องจักรกลการเกษตรและก่อสร้าง

K-Rent หรือ Rental Service เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของเกษตรและผู้จ้างงานในยุค 4.0 นี้ สยามคูโบต้าร่วมกับผู้แทนจำหน่ายได้ให้บริการเช่าเครื่องจักรกลที่สามารถครอบคลุมความต้องการใช้งานของเกษตรกร

บริษัทมีการติดตามเรื่องสุขภาพทางการเงินของลูกค้าอยู่เสมอ และมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นชุมชนพลังเกษตรสร้างสุข สยามคูโบต้า หรือ SKCE (SIAM KUBOTA Community Enterprise) ที่สยามคูโบต้าเข้าไปพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้ความรู้เรื่องเครื่องจักรกลการเกษตร และองค์ความรู้การทำเกษตร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และแปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น และกลุ่มเข้มแข็งเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้า ยังย้ำจุดยืนการเป็น “นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต” มุ่งพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยแก่เกษตรกรไทย เพื่อผลักดันให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการในการทำการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร และโซลูชั่น ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงจากความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ รวมทั้งสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

สยามคูโบต้า มีเป้าหมายจะยกระดับภาคเกษตรกรรมของอาเซียนให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และปลอดภัยสอดรับเทรนด์โลกในปี 2030"

สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้เกิดแรงงานคืนถิ่นกลับสู่ภาคเกษตรมากขึ้นกว่า 1.6 ล้านคน ความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรจึงเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงแรกนั้นสินค้าทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากการส่งออก เนื่องจากความต้องการของต่างประเทศที่ลดลง จากเศรษฐกิจหดตัว รวมไปถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว และมันสำปะหลัง แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มกลับมาอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้สถานการณ์ส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น

บริษัท มองว่าภาพรวมสถานการณ์ธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่ดี โดยคาดการณ์ GDP ภาคเกษตรของไทยเติบโต 2-3% และ GDP ภาคเกษตรของกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ 6%”

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์