"กบน." เคาะกู้เงิน 2 หมื่นล้าน อุ้มดีเซล 30 บาท

"กบน." เคาะกู้เงิน 2 หมื่นล้าน อุ้มดีเซล 30 บาท

กบน.เคาะกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท อุ้มราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เตรียมนำเสนอหลักเกณฑ์การกู้เงินให้ที่ประชุม กพช. โดยนายกฯ นั่งเป็นประธาน วันที่ 5 พ.ย.นี้ ก่อนชงครม.อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป โฆษกฯ แจงไม่เคยนำเงินกองทุนฯ เข้ารัฐ ยันใช้เงินตามวัตถุประสงค์และข้อกฎหมาย

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม ได้เห็นชอบเนื้อหาและสาระสำคัญร่างหลักเกณฑ์การกู้ยืมมเงินตามที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) นำเสนอในการพิจารณาวาระสำคัญในเรื่องของกรอบการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่ให้สิทธิ์กองทุนน้ำมันฯ สามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกู้เงินเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยกำหนดให้มีน้ำมันกลุ่มดีเซล 3 ชนิด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ซึ่งกำหนดให้ส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา อยู่ที่ 0.15 บาทต่อลิตร และส่วนต่างราคาขายปลีกระหว่างน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 กับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 อยู่ที่ 0.25 บาทต่อลิตร โดยยังคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม ในการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท กระทรวงการคลัง จะต้องบรรจุกรอบเงินกู้เข้าไปรวมอยู่ในแผนก่อหนี้สาธารณะ โดยขณะนี้เงินกองทันน้ำมันฯ เดือนพ.ย.2564 เหลืออยู่ประมาณ 6,600 ล้านบาท จะสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้ถึงสิ้นปี 2564 เท่านั้น ซึ่งหากสถานการณ์น้ำมันยังมีความผันผวน ดังนั้น เงินกู้ 2,000 ล้านบาท จะเข้ามาช่วยกองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาน้ำมันไปได้ประมาณเดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้จะหมดฤดูหนาว คาดว่า สถานการณ์น่าจะดีขึ้น

"กบน." เคาะกู้เงิน 2 หมื่นล้าน อุ้มดีเซล 30 บาท ด้านนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการโอนเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลกว่า 20,000 ล้านบาทนั้น ได้ตรวจสอบกับสำนักงานกองทุนฯ แล้ว พบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งตั้งแต่ตั้งกองทุนฯ มา ยังไม่เคยนำเงินกองทุนฯ เข้านำส่งเป็นรายได้กระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันว่าการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ อย่างเคร่งครัด โดยในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ให้กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการดำเนินงานให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ตามที่กพช. กำหนดเท่านั้น

“การเตรียมกู้เงินในครั้งนี้ ก็เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท เนื่องจากน้ำมันดีเซล เป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจหากปล่อยให้มีราคาสูงเกินไปจะกระทบต่อผู้ประกอบการ ค่าขนส่ง ค่าสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะควบคุมการใช้เงินกู้อย่างเข้มงวด และเป็นไปตามข้อกฎหมาย ส่วนที่มีข่าวการโอนเงินจากกองทุนฯ ส่งเป็นรายได้ให้รัฐบาลนั้น สำนักงานกองทุนฯ ขอยืนยันว่า ไม่มีการโอนเงินตามที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด โดยการใช้เงินกองทุนฯ ที่ผ่านมาเป็นไปตามข้อกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และเป็นไปตามมติ กพช.เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน อย่างเช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรในขณะนี้ และการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ครัวเรือนตลอดทั้งปี 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19” นายสมภพ กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 น. นายสุพัฒนพงษ์ จะนำหลักเกณฑ์การกู้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าวนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานกพช. รับทราบ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป