‘เอราวัณ’ปรับกลยุทธ์ขายรร.หรู-รุกบัดเจ็ทโฮเทล

‘เอราวัณ’ปรับกลยุทธ์ขายรร.หรู-รุกบัดเจ็ทโฮเทล

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดลากยาวมาเกือบ 2 ปี หลังพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นของจีน ก่อนที่จะระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก จนกลายเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์

แม้ว่าปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังมีการพัฒนาและเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาด ขณะที่ประชาชนปรับตัวได้มากขึ้น ด้วยการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หลายประเทศกลับมาเปิดเมืองเปิดประเทศกันแล้ว แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจกันไป เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดรอบใหม่ได้ทุกเมื่อ

หากมองในมุมเศรษฐกิจ วิกฤตโควิดเล่นงานเศรษฐกิจไทยทรุดหนัก หลายธุรกิจได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ หลังต้องล็อกดาวน์ปิดประเทศไปหลายเดือน กระทบรายได้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยซบเซาลงเช่นกัน

“ธุรกิจโรงแรม” เป็นอีกธุรกิจที่อาการยังโคม่า ตั้งแต่เกิดโรคระบาดอัตราการเข้าพักลดฮวบ แทบไม่มีผู้ใช้บริการ บางแห่งต้องปิดชั่วคราว เพราะเปิดไปก็ไม่คุ้ม ส่วนใครสายป่านสั้น แบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ต้องยอมยกธงขาวปิดกิจการไปไม่น้อย ส่วนที่ไปต่อต้องกัดฟันกันแบบสุดๆ

วิกฤตครั้งนี้หนักแค่ไหน ดูได้จากผลประกอบการของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ปี 2563 พลิกขาดทุนกันถ้วนหน้า ทั้ง บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ที่รายได้ทั้งหมดมาจากธุรกิจโรงแรม ขาดทุน 1,715.26 ล้านบาท ส่วนแบรนด์ไทย บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ขาดทุน 1,011.14 ล้านบาท

ด้านกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ขาดทุน 1,881.23 ล้านบาท ไม่ต่างกับ 2 ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ขาดทุน 2,775.11 ล้านบาท และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT 21,407.34 ล้านบาท

วิกฤตครั้งนี้ทำให้หลายบริษัทต้องเร่งปรับแผนธุรกิจเป็นการด่วน อย่าง ERW เลื่อนเปิดโรงแรมใหม่หลายๆ โครงการออกไปก่อน และหันมามุ่งเน้นตลาดกลุ่มโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ภายใต้แบรนด์ฮ็อป อินน์ (HOP INN) ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดและฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนไทย โดยในระยะยาววางแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้จากฐานลูกค้าในประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากลูกค้าต่างชาติ

ทั้งนี้ กลุ่มโรงแรม HOP INN ในไทยมีอัตราการเข้าพักในปี 2562 เฉลี่ยที่ 73% และปรับตัวลดลงเหลือ 57% ในปี 2563 จากผลกระทบของโควิด แต่โดยรวมแล้วถือว่าดูดีกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มโรงแรม 5 ดาว มีอัตราการเข้าพักปี 2562 ที่ 76% ปี 2563 ที่ 20%, โรงแรมระดับกลาง อัตราการเข้าพักปี 2562 ที่ 85% ปี 2563 ที่ 24% และกลุ่มโรงแรมชั้นประหยัด อัตราการเข้าพักปี 2562 ที่ 75% และปี 2563 ที่ 25%

โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากโรงแรม HOP INN ประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้รวม เมื่อรวมกับโรงแรม HOP INN ฟิลิปปินส์ อีก 10% เป็น 35% เท่ากับรายได้ของกลุ่มโรงแรม 5 ดาว โดยมีจำนวนห้องพัก 5,343 ห้อง มากที่สุดในทุกกลุ่ม แบ่งเป็นในประเทศไทย 3,677 ห้อง และฟิลิปปินส์ 843 ห้อง

เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย บริษัทเตรียมเดินหน้าสร้างโรงแรม HOP INN เพิ่มอีก 7 แห่ง ขณะเดียวกันมีแผนขายโรงแรมกลุ่มอื่นๆ ออกไปบ้าง โดยล่าสุดประกาศขาย 2 โรงแรมดังบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ โรงแรม เรเนซองส์ เกาะสมุย รีสอร์ท แอนด์ สปา และโรงแรมไอบิส สมุย มูลค่ารวม 925 ล้านบาท

ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในระยะยาวที่จะปรับพอร์ตมุ่งเน้นกลุ่มโรงแรม Budget Hotel และเพิ่มฐานรายได้ลูกค้าคนไทย นอกจากนี้ จะทำให้บริษัทได้รับกระแสเงินสดเข้ามาก้อนหนึ่งเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงิน และเตรียมพร้อมขยายธุรกิจในอนาคต

โดยบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า การขายโรงแรมครั้งนี้ ส่งผลบวกต่อ ERW เพราะจะช่วยลดผลขาดทุน และนำเงินไปขยายโรงแรม HOP INN บริษัทจะบันทึกกำไรพิเศษหลักสิบล้านบาทเข้ามาในไตรมาส 4 นี้ โดยโรงแรมทั้ง 2 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนรายได้เพียง 3% จากรายได้รวมปี 2562 และมีผลขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด โดยปี 2563 ขาดทุนรวมกันราว 10 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อขายออกไปจะช่วยลดผลขาดทุนในระยะยาวและจะเกิดอัพไซด์ต่อผลการดำเนินงานปี 2565 เพิ่มขึ้น 1% จากที่คาดว่าจะขาดทุนอยู่ 945 ล้านบาท และจะช่วยลด Net D/E ลงมาอยู่ที่ 1.53 เท่า จากเดิมที่ 1.68 เท่า ในปี 2564