‘ซีพีทีพีพี’ โอกาสเศรษฐกิจไทย

‘ซีพีทีพีพี’ โอกาสเศรษฐกิจไทย

โจทย์ประเทศไทยวันนี้คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวได้ ซึ่งต้องทำไปพร้อมๆกับการทำให้ประชาชนปลอดภัย การท่องเที่ยวจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือไม่ นโยบายและการทำงานต้องชัดเจน วางแผนเพื่อไปต่อ เปิดเมืองจะได้ไหลลื่นไม่มีใครตำหนิได้

เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Creating Thailand Desirable Future ในงานการสัมมนา Competitiveness Conference 2021 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ระบุโอกาสของประเทศไทยหลังโควิด-19 ยังมีอยู่มาก โดยเชื่อว่าเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเดินหน้าสู่โอกาสทางเศรษฐกิจอีกมากในอนาคต รัฐบาลจะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนให้ความสำคัญการสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง ดิจิทัล อุตสาหกรรม5จี พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรม งานวิจัยและการพัฒนาคนพื้นที่อีอีซี การให้วีซ่าระยะยาวผู้มีกำลังซื้อสูง 

ปี2565 จะชัดเจนในการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อเปิดโอกาสการลงทุนในอนาคต ได้แก่ เอฟทีเอไทย-อียู และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เราเห็นว่า ประเด็นการเข้าร่วมซีพีทีพีพีมีความสำคัญและเป็นที่จับตามองจากหลายภาคส่วน รัฐบาลต้องทำให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกันต้องทำความเข้าใจ แก้ปัญหาด้วยความโปร่งใส เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้า และไม่ตกขบวนในเวทีโลก

ขณะที่วันที่​ 29 ต.ค.ที่จะมาถึง คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี​ และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.จะมีการประชุมวาระสำคัญก่อนเปิดประเทศ ด้านสาธารณสุขโดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์​และสาธารณสุข​กรณีโรคติดเชื้อโควิด​ จะเสนอแผนการให้บริการวัคซีน การปรับระดับพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร​ การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคแบบบูรณาการ รวมถึงคาดการณ์การระบาดโควิดในปี2565

การประชุมครั้งนี้ มีขึ้นก่อนหน้าการเปิดประเทศ 1 พ.ย.เพียง 3 วัน เข้าใจว่าเพื่อให้ข้อมูลอัพเดทมากที่สุด เราเห็นว่ายังมีสิ่งสำคัญคือการอัพเดทความมั่นใจกับความพร้อมของประชาชนเจ้าของประเทศ สังเกตจากผลโพลล์ของกรมอนามัยที่ได้สำรวจความคิดเห็นหัวข้อ “ความกังวล กับการเปิดเมือง เปิดประเทศ เริ่ม 1 พ.ย.2564” ระหว่างวันที่ 14-25 ต.ค.2564 ซึ่งสำรวจในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด พบว่าประชาชนยังมีความกังวลในภาพรวมสูงถึง 92.4% เฉพาะกังวลว่าจะเกิดการระบาดในระลอกใหม่อยู่ที่ 75.8 % ดังนั้นศบค.ต้องนำข้อมูลไปพิจารณา เพื่อวางระบบที่สร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัยและจะต้องก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

โจทย์ของประเทศไทยวันนี้ เป็นโจทย์ของหลายประเทศทั่วโลก นั่นคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจประเทศฟื้น โดยที่ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิต ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวในช่วงปลายปี2564 จุดความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี65 หัวใจคือการทำงานที่ควบคู่  การประกาศนโยบายและสัญญาณออกไปให้ชัดเจน ทั้งต่อประชาชนและภาคธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาจจะต้องศึกษาบทเรียนจากประเทศที่ดำเนินการล่วงหน้า แล้วนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องสถานการณ์ของไทย หากทำอย่างรอบด้านแล้ว เชื่อว่าต่อให้เปิดเมืองแล้วเกิดเผชิญเหตุไม่คาดฝัน ก็คงไม่มีใครตำหนิ