"ไทยแลนด์พาส" เปิดประเทศ แพลตฟอร์มใหม่แทน COE ดึงต่างชาติเที่ยวไทยไฮซีซั่น

"ไทยแลนด์พาส" เปิดประเทศ  แพลตฟอร์มใหม่แทน COE  ดึงต่างชาติเที่ยวไทยไฮซีซั่น

“พิพัฒน์” ระบุ เอกชน-ทัวริสต์ ตอบรับไทย “เปิดประเทศ" 1 พ.ย. สัญญาณดี คาดคลายล็อกยกเลิกขอ COE ปรับใช้ “ไทยแลนด์พาสส์” สะดวก รวดเร็ว หนุนยอดจองห้องพักเที่ยวไทย-ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ไฮซีซั่น คึกคัก ยัน “ลิซ่า แบล็กพิงก์-อันเดรอา โบเซลลี” คอนเฟิร์มร่วมงานเคาท์ดาวน์ 2022 ที่ภูเก็ต

เตรียมชงของบฯ กลาง “ครม.” จ่ายค่าตัว 2 ศิลปิน 100 ล้าน ด้าน “ททท.” เตรียมรีวิวทุก 2 สัปดาห์ เพิ่มรายชื่อประเทศเดินทางเข้าไทยไม่ต้องกักตัวจาก 46 ประเทศ

หลังจากราชกิจจานุเบกษาประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 36 กำหนดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และปลดล็อกเคอร์ฟิวพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค.2564 รวมถึงกรณีศูนย์ปฏิบัติการมาตรการการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) ได้ประกาศรายชื่อ 46 ประเทศ/พื้นที่ที่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้แบบไม่ต้องกักตัว เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการคลายล็อกครั้งสำคัญที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหลังติดบ่วงวิกฤติโควิด-19 มายาวนานร่วม 2 ปี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ผลตอบรับเรื่องเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 จากภาคเอกชนท่องเที่ยวถือว่าดีมาก ส่วนผลตอบรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ก่อนหน้านี้จะยังไม่มีประกาศจากราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวและประกาศรายชื่อ 46 ประเทศที่สามารถเดินทางเข้าไทยได้แบบไม่ต้องกักตัวของ ศปก.กต. ก็พบว่า มียอดการขอใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย (COE : Certificate of Entry) และยอดจองห้องพักโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในเดือน พ.ย. มากขึ้นพอสมควร คาดว่าน่าจะมากกว่าทุกเดือนนับตั้งแต่เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรด็ดี เมื่อมีการประกาศเรื่องเปิดประเทศ และเตรียมยกเลิกการขอ COE ให้เปลี่ยนมาใช้การยื่นเอกสารประกอบการเข้าประเทศ ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass) แทนทั้งหมด ไม่จำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจาก 46 ประเทศเท่านั้น นับเป็นขั้นตอนที่ง่ายขึ้นสำหรับการกรอกแบบฟอร์มเอกสารต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว 

โดยจะมีการประกาศเริ่มใช้ไทยแลนด์พาส วันที่ 1 พ.ย.นี้  กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้นในเดือน พ.ย. และมีแนวโน้มเข้ามามากกว่านั้นในเดือน ธ.ค. ตามที่นักท่องเที่ยวได้วางแผนล่วงหน้ามาเที่ยวไทยช่วงไฮซีซั่น

 

ยอดจองที่พักภูเก็ตฯส่งท้าย 2 เดือน 1.34 แสนคืน

สำหรับสถิติโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ณ วันที่ 24 ต.ค.2564 พบว่าช่วง 2 เดือนส่งท้ายปี พ.ย.-ธ.ค.นี้ มียอดการจองของผู้เข้าพักโรงแรมใน จ.ภูเก็ต ที่ได้มาตรฐาน SHA+ รวมอยู่ที่ 134,086 คืน ส่วนเดือน ต.ค.มีจำนวน 233,866 คืน และช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมามี 541,925 คืน

ทางด้านจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 116 วัน ตั้งแต่ 1 ก.ค.-24 ต.ค.ที่ผ่านมา มี 55,772 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ 55,592 คน คัดกรองพบผู้ติดเชื้อ 177 คน รอผลตรวจอีก 3 คน เฉพาะวันที่ 24 ต.ค.มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 848 คน จาก 6 สายการบิน ซึ่งให้บริการเที่ยวบินตรงสู่ภูเก็ตรวม 8 เที่ยวบิน

 

‘ลิซ่า-อันเดรอา’คอนเฟิร์มเคาท์ดาวน์ภูเก็ต

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความคืบหน้าของการจัดงานเคาท์ดาวน์ 2022 ที่ จ.ภูเก็ต ขณะนี้ “ลิซ่า แบล็กพิงก์” หรือ นางสาวลลิษา มโนบาล ศิลปินเคป๊อบสาวชาวไทยซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก และ “อันเดรอา โบเซลลี” นักร้องโอเปร่าชื่อดังระดับโลกชาวอิตาเลียน ยังคงยืนยันว่าจะมาร่วมงานเคาท์ดาวน์ที่ จ.ภูเก็ต โดยจะมีการเซ็นสัญญาร่วมงานอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้

ล่าสุดได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทั้งลิซ่า แบล็กพิงค์ และอันเดรอา โบเซลลี ขึ้นแสดงงานเคาท์ดาวน์บนเวทีเดียวกันที่สะพานสารสิน ทั้งนี้ได้วางกำหนดเวลาจัดงานไว้รวม 3 ชั่วโมงในคืนวันที่ 31 ธ.ค.2564 ข้ามศักราชใหม่ไปยังวันที่ 1 ม.ค.2565 โดยจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเรื่องดึงศิลปินไทยขึ้นร่วมแสดงด้วย

“สำหรับค่าตัวของลิซ่าและอันเดรอา รวมกันแล้วอยู่ที่ 3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 100 ล้านบาท โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอของบกลางฯ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เฉพาะส่วนค่าตัวของศิลปินทั้งสองรายในเร็วๆ นี้”

ด้านค่าใช้จ่ายส่วนอื่น เช่น ค่าออร์กาไนเซอร์ ค่าวงดนตรี ค่าเวที แสง สี เสียง ค่าจัดแสดงพลุ และอื่นๆ จะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นสปอนเซอร์ ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯยังรอรายละเอียดงบประมาณที่ต้องใช้ในการจัดงานทั้งหมด โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการจัดงานเคาท์ดาวน์ ภูเก็ต ทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนในการเตรียมการจัดงานก่อนถึงสิ้นปี

“กระทรวงการท่องเที่ยวฯตั้งเป้าผลักดันงานเคาท์ดาวน์ ภูเก็ต 2022 ให้เป็นอีเวนท์ระดับโลก โปรโมทภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) สร้างกระแสความสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มายาวนานร่วม 2 ปี” รมว.การท่องเที่ยวฯกล่าว

 

ทุก 2 สัปดาห์เพิ่มชื่อ‘ประเทศเสี่ยงต่ำ’

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ททท.ได้ประชุมร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจผู้ประกอบการโรงแรมเกี่ยวกับการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ยืนยันว่ารายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำที่ออกมา 46 ประเทศนั้น จะมีการทบทวนเพิ่มเติมรายชื่อประเทศทุกๆ 2 สัปดาห์ จึงไม่ต้องกังวลว่ายังไม่มีรายชื่อของบางประเทศออกมา

สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ของนักท่องเที่ยวจากกลุ่ม 46 ประเทศ ครั้งแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทยจะอยู่ที่ 2,000 บาท โดยเข้ารับการตรวจหาเชื้อครั้งแรกที่โรงแรมหรือสถานที่ที่โรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการกำหนด จากนั้นรอผลการตรวจในห้องพัก จะพยายามไม่ให้รอผลเกิน 6 ชั่วโมง เมื่อผลตรวจออกมาไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกโรงแรมได้เลย หากเกิดกรณีนักท่องเที่ยวไม่กลับมาพักค้างคืน ถือว่าโรงแรมไม่เสียหาย เพราะได้รับชำระค่าที่พักแล้ว ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจะได้รับชุดตรวจ ATK ไว้สำหรับตรวจเอง ซึ่งจะใช้ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-7 แล้วแจ้งผลการตรวจผ่านแอพพลิเคชัน “หมอชนะ” (ภาษาอังกฤษ)

 

คาดขอ ‘ไทยแลนด์พาส’ ได้ก่อน 1 พ.ย.

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวเสริมว่า นักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศที่จะเดินทางเข้าไทย สามารถยื่นเอกสารประกอบการเข้าประเทศ “ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass) ผ่านเว็บไซต์ www.tp.consular.go.th แทนการยื่นขอใบอนุญาตขอเดินทางเข้าราชอาณาจักร (COE) โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะเปิดระบบนี้ได้ก่อนวันที่ 1 พ.ย.2564

“ระหว่างนี้นักท่องเที่ยวสามารถยื่นขอ COE ไปก่อน แล้วระบบหลังบ้านจะไปปรับกันเอง ขณะเดียวกันมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็กที่มาพร้อมผู้ปกครองที่รับวัคซีนแล้ว ได้ปรับเกณฑ์จากเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะปัจจุบันทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้เด็กแล้ว”

\"ไทยแลนด์พาส\" เปิดประเทศ  แพลตฟอร์มใหม่แทน COE  ดึงต่างชาติเที่ยวไทยไฮซีซั่น

ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากประเทศอื่นๆ นอกเหนือ 46 ประเทศ จะเข้าเกณฑ์การเดินทางเข้าพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัด ซึ่งเป็น “พื้นที่สีฟ้า” (Blue Zone) เริ่มวันที่ 1 พ.ย.2564 เช่นกัน หากต้องการเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยนอกเหนือจากพื้นที่สีฟ้า ต้องพำนักในพื้นที่อย่างน้อย 7 คืนก่อน เมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางมาถึงสนามบินแล้ว จะต้องเดินทางเข้าที่พักโดยรถที่จัดไว้โดยมีการกำกับการเดินทาง (Sealed Route) ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 5 ชั่วโมงในการไปถึงที่พัก มีการตกลงจุดแวะตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกระหว่างทาง หรือจะตรวจหาเชื้อที่โรงแรมก็ได้ กรณีเป็นรถตู้ ต้องแวะจุดจอดเข้าห้องน้ำตามที่กำหนดเท่านั้น ส่วนกรณีรถบัสนั้นมีห้องน้ำบริการในตัวอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่สีฟ้า สามารถตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แต่ต้องให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ตรวจให้เท่านั้น ไม่สามารถตรวจด้วยตัวเองได้เหมือนนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศความเสี่ยงต่ำ แต่ยืนยันว่าค่าตรวจถูกลงแน่นอน