ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด รุมเร้าเศรษฐกิจไทย

ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด รุมเร้าเศรษฐกิจไทย

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของ “ราคาน้ำมัน” ในช่วงเวลานี้ และตลาดยังมองแนวโน้มราคาน้ำมันเบรนท์ปรับตัวขึ้นไปใกล้ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รวมถึงราคาพลังงานอื่นๆ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ จากความต้องการใช้พลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ "เงินเฟ้อ" อาจเร่งตัวขึ้น

ในขณะที่ “กำลังการผลิต” ยังฟื้นตัวไม่มาก และ “เศรษฐกิจไทย” ยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน จึงกลายเป็นความเสี่ยงภาวะ “Stagflation” ที่เข้ามาบั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยได้ 

ดังนั้น ในมุมมอง “นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารพาณิชย์” ต่างเห็นตรงกันว่า “การฟื้นตัวของศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า” ยังมีปัจจัยดังกล่าวเป็น “ความท้าทาย” ที่รออยู่

สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ราคาน้ำมันขึ้นมาแรง” มาจากสาเหตุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและส่งผ่านมาที่ต้นทุนการบริโภคสูงขึ้นตามมาด้วย

ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวยังเป็น  “แรงต้านต่อการฟื้นตัวของประเทศไทยในระยะต่อไป” ทำให้ "ฟื้นตัวช้าลง" หรือ "ไม่ฟื้นเลย" จากตอนนี้เศรษฐกิจไทยก็ฟื้นตัว “ช้ากว่า” ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันอยู่แล้ว 

ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด รุมเร้าเศรษฐกิจไทย แต่ทั้งนี้ การส่งผ่าน “ราคาพลังงาน” ที่ปรับตัวขึ้นจนกระทบ “ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค” ชัดเจนนั้น ปกติจะใช้เวลาราว “5 ไตรมาส” นับว่าเศรษฐกิจไทยยัง “พอมีเวลา” เตรียมตัวรับมือ

สมประวิณ เสนอแนะว่า นโยบายการคลังยังต้องเร่งเศรษฐกิจให้ฟื้นเร็วขึ้น ทั้งการฟื้นฟูและกระตุ้นกำลังซื้อ ขณะที่นโยบายการเงิน คงต้องเตรียมศึกษาเครื่องมืออื่นๆ หรือการเข้าแทรกแซงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรับมือกับบอนด์ยิลด์ระยะยาวที่จะปรับเพิ่มขึ้้น ลดแรงกดดันด้านต้นทุน 

ไม่เช่นนั้น หากราคาน้ำมันขาขึ้นต่อเนื่องแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนทั้ง “การผลิต การลงทุน และการบริการ สูงขึ้น” เห็นเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมี “รอยแผลเป็นจากโควิด-19” ที่อาจกลับมาเป็นแผลซ้ำได้อีก เป็นความเสี่ยงทำให้การฟื้นตัวยังช้า ดังนั้นการเจอกับภาวะ “Stagflation” เป็นความท้าทายที่รออยู่ 

“เรายังคาดการณ์จีดีพีปี 2565 ขยายตัวระมัดระวังที่ 3% ยังเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบดูไบยังยืนที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยผู้เล่นในตลาดน้ำมันจะไม่ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นแรงจนทำลายการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั้งโลก ที่จะส่งผลกระทบมายังประเทศของตนเองและน่าจะเห็นการเข้ามาพยุงราคาน้ำมันของรัฐบาล ถือเป็นความจำเเป็นที่ต้องดูแล เพื่อช่วยดีมานด์แท้จริงตอนนี้ที่จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรฐษกิจไทย ทำให้เงินเฟ้อปีหน้าที่ระดับ 1.3% เป็นการเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ จาก 0.9% ในปีนี้”

"นริศ สถาผลเดชา" หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าราคาน้ำมัน คือ “ราคาพลังงานภาพรวมพุ่งแรง” ซึ่งไทยมีสัดส่วนการนำเข้าพลังงานหลัก คิดเป็น 26% หรือ 1 ใน 4 ของการนำเข้าทั้งหมด เป็นสัดส่วนการนำเข้าน้ำมัน 13% และเคมีภัณฑ์อีก 13% นับเป็นสัดส่วนที่มีผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมากหากพลังงานโลกปรับตัวขึ้น

มองว่าหากราคาน้ำมันดิบยังปรับขึ้นไปแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แน่นอนว่าจะกดดันเสถียรภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยอย่างมาก มีโอกาสเห็น “การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่มากขึ้นหรือยาวนานขึ้น”

กรณีหากปี 2565 ถ้าราคาน้ำมันดิบยังเพิ่มขึ้นที่ระดับ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และราคาต้นทุนพลังงานที่ปรับขึ้น ค่อยๆ ส่งผ่านไปยังต้นทุนการบริโภค ทั้งราคาอาหารและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น จะเร่งเงินเฟ้อสองส่วนนี้เป็นบวกได้ จากปัจจุบันที่ติดลบ 2.2% และลบ 0.2% ขณะที่ราคาขนส่งพุ่งแรง 6.86% แล้ว

ดังนั้น จีดีพีปีหน้าจึงมีความเสี่ยงปรับลดประมาณการลง จากคาดไว้ขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งได้สะท้อนการปรับขึ้นของราคาน้ำมันบางส่วน และยืนระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ปีหน้าเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำเป็นบวกอ่อนๆ ที่ 1-1.5% เพิ่มจาก 0.85%.ในปีนี้     

เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นไปมากกว่าที่คาด จะเป็นตัวถ่วงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังเป็นปัจจัยลบที่ต้องติดตาม 

โดยปีหน้าคาดราคาน้ำมันดิบดูไบยังใกล้ระดับปีนี้เฉลี่ยทั้งปีที่ 68.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ปัจจุบันราคาจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากต้นปีที่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม เราคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นในตอนนี้ “ยังไม่รุนแรง” จนเป็นภาระต่อการบริโภค สะท้อนจากราคาน้ำมันดีเซลยังไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร หรือจากต้นปีนี้เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 25 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน และหากมีความเสี่ยงราคาน้ำมันดีเซลขยับไปแตะ 30 บาทต่อลิตร เชื่อว่ารัฐบาลจะพิจารณาเข้ามาดูแลพยุงราคาน้ำมันเป็นการชั่วคราว

และกรณีคอขวดในตลาดผู้ผลิตน้ำมันจากปัญหาความไม่สมดุลด้านอุปสงค์และอุปทานรอบนี้ น่าจะคลี่คลายลง เห็นการอ่อนตัวภายในไตรมาส 1 ปี 2565 หลังจากเฟดเริ่มลด QE ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ร้อนแรงจนเกินไป 

“ราคาน้ำมันดิบจะกลับมายืนในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบจนทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงไปอีก จึงคาดว่าเงินเฟ้อไทยในปีหน้า แม้ขยับขึ้นแต่อยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% จากปัจจุบันที่ 0.83% นับจากต้นปีนี้”

พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองว่า ​การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาพลังงาน จะกดดันการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง เป็นปัจจัยส่งผลต่อค่าเงินบาทไม่แข็งค่าไปมาก จึงต้องอาศัยแรงหนุนการแข็งค่าของเงินบาทจากฟันด์โฟลว์เป็นหลัก จนกว่าที่ประเทศไทยจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างชัดเจน

 ส่วนผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโดยเฉพาะเงินเฟ้อ มองว่าน้อยกว่าปัจจัยข้างตันที่กล่าวมา เนื่องจากน้ำหนักของราคาพลังงานบนตะกร้าเงินเฟ้อนั้นมีไม่มาก ราว 10% จึงเห็นว่าผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของน้ำมันมีผลไม่มากนักต่อเงินเฟ้อ

สำหรับปัจจุบัน “เงินเฟ้อ” อยู่ในระดับต่ำจากการทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงน้อยที่จะเจอภาวะ Stagflation เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดในงานประชุมนักวิเคราะห์ที่ผ่านมา

ขณะที่มองแนวโน้มราคาน้ำมัน รวมถึงสินค้าพลังงานอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อ มีโอกาสที่จะเห็นราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 90-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปีหน้า แต่การทยอยเพิ่มกำลังการผลิตจะเริ่มทำให้ตลาดน้ำมันกลับสู่สภาวะที่สมดุลมากขึ้น และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ในช่วง 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในช่วงปลายปี 2565