ร้านกินดื่มกลางคืนคึก รับเลิกเคอร์ฟิว ติดล็อกห้ามขายเหล้าเบียร์ ฉุดยอดขาย

ร้านกินดื่มกลางคืนคึก รับเลิกเคอร์ฟิว  ติดล็อกห้ามขายเหล้าเบียร์ ฉุดยอดขาย

นับถอยหลังรัฐยกเลิกเคอร์ฟิว หนุนธุรกิจกลางคืนกลับมามีชีวิตชีวา ผู้ประกอบการ พนักงาน นักดนตรี ศิลปิน กลับมามีรายได้ หลังจากถูกล็อกดาวน์นานเกินครึ่งปี ร้านชงเจริญ-ชอคโกแลตวิลล์ รับยอดขายยังคงหดตัว เพราะติดล็อกห้ามขายเครื่องดื่มเหล้าเบียร์ ตอบไลฟ์สไตล์คอปาร์ตี้

หากธุรกิจ “โรงหนังภาพยนตร์” ในพื้นที่สีแดงเข้มถูกปิดถึง 158 วัน แต่ยังธุรกิจร้านอาหารกลางคืน ร้านกินดื่ม แหล่งแฮงเอาท์ของเหล่าคนเมือง ผู้บริโภคที่ชื่นชอบพบปะสังสรรค์ปาร์ตี้ เป็นอีกกลุ่มที่ปิดยาวราว 6 เดือน ธุรกิจกระทบหนักหนาไม่แพ้กัน เพราะเป็นห้วงเวลาที่รายได้เป็น “ศูนย์” รายจ่ายคงที่ ค่าเช่าร้าน ค่าจ้างพนักงานยังไหลออก

ล่าสุด รัฐไฟเขียวลดเวลา “เคอร์ฟิว” จาก 21.00-03.00 น. เป็น 22.00-04.00 น. ช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารกลางคืนอย่างมาก พร้อมประสานเสียง ”1 ชั่วโมง” ที่ร้านได้เปิดให้บริการ ผู้บริโภคต่างโหยหายนาทีทองเหล่านี้อย่างยิ่ง ส่วนวันที่ 31 ต.ค. รัฐจะยกเลิกเคอร์ฟิวในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ กระบี่ ชลบุรี(บางอำเภอ) เชียงใหม่(บางอำเภอ)ฯ ยิ่งส่งผลบวกต่อธุรกิจร้านอาหารกินดื่มกลางคืนมากยิ่งขึ้น

ชนาสิน บำรุงชน ประธานกรรมการ บริษัท กรู๊ฟเจริญ จำกัด ผู้ประกอบการร้าน “ชงเจริญ” ฉายภาพว่า บริษัทกลับมาเปิดร้านตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังรัฐอนุญาตให้นักดนตรีกลับมาเล่นในร้านได้ ซึ่งทันที่ที่กลับให้บริการ ลูกค้ามมาต่อคิวกันอย่างคึกคัก ทำเลใจกลางเมืองจะมา เพื่อเข้าร้านให้เร็วขึ้น และแม้ว่าจะนั่งบริโภคอาหาร ฟังเพลงชิลๆเพียง 2 ชั่วโมงก็ยินดี

ร้านชงเจริญ มีทั้งสิ้น 5 สาขา เช่น เกษตรนวมินทร์ สวนเพลิน เดอะ ปาร์ค การเผชิญโควิดแต่ละรอบผลกระทบต่างกันเพียงระยะเวลาปิดร้าน เช่น รอบแรกปิดให้บริการราว 3 เดือน รอบ3 ลากยาวมาก ร้านปิดให้บริการร่วม 6 เดือน รายได้เป็นศูนย์ รายจ่ายพนักงาน ค่าเช่าสถานที่เป็นต้นทุนใหญ่ที่ต้องแบก ไม่นับ “ผู้ถือหุ้นขาดรายได้” นานนับปี แต่ยังดีที่ “แลนด์ลอร์ด” เข้าใจสถานการณ์และ “ลดค่าเช่า” ให้ช่วยยืดสายป่านธุรกิจได้เพิ่ม

ส่วนการปรับตัวลุย “เดลิเวอรี่” ไม่สามารถทำได้ เพราะร้านกินดื่มขายบรรยากาศและประสบการณ์มานั่งที่ร้าน

เวลาร่วมปีที่ธุรกิจปิดให้บริการ บริษัทใช้สรรพกำลัง ไอเดียไปพัฒนาแอ๊พพลิเคชั่น ”ชงชนะ” เพื่อคัดกรอง และให้ลูกค้าลงทะเบียน จับจองที่นั่ง และยังทำให้ทราบข้อมูลลูกค้าทั้งการฉีดวัคซีน ที่อยู่ เบอร์โทร. สามารถติดตามตัวได้ ช่วยแก้จุดอ่อนที่โรคโควิดระบาดครั้งแรก เมื่อมีผู้ติดเชื้อไวรัสมีลูกค้าโทร.มาสอบถามกันจำนวนมากว่ามีใครที่ไหน มาใช้บริการ

แอ๊พฯ “ชงชนะ” เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 และพบว่าลูกค้ากว่า 90% ที่เข้ามาใช้บริการ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคน

การกลับมาเปิดร้านชงเจริญตั้งแต่วันที่ 1 เหตุผลสำคัญคือต้องการรักษา “พนักงาน” ไว้ ก่อนที่จะลาออกไปจนเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขายรับรัฐเปิดเมือง ธุรกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ รวมถึงต้องการให้ “ศิลปิน นักดนตรี” กลับมามีงานทำอีกครั้ง โดย 2 ส่วนนี้ “ชงเจริญ” จ้างงานรวมประมาณ 200 ชีวิต แบ่งเป็นพนักงานประจำร้านราว 100 คน ศิลปิน นักดนตรีราว 100 คน แต่ที่ผ่านมาติดเคอร์ฟิว 21.00-03.00 น. ทำให้จ้างศิลปินเพียง 2 วงต่อคืน จากปกติ 3 วง ค่าจ้างเฉลี่ย 1,000 บาทต่อคน โดยขอลดค่าจ้างราว 10% เพื่อประคองกิจการของร้าน

ด้านรายได้แม้ลูกค้านั่งเต็มร้าน เช่น ชงเจริญสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ความจุราว 300 ที่นั่ง ก็ทำเงินได้ไม่มากนัก เพราะขายเพียงอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” คือสินค้าแม่เหล็กที่ทำเงินสูงสุด จากการประเมินเบื้องต้น ขายเหล้า เบียร์ไม่ได้ ยอดขายหายไปราว 70%

“การลดเวลาเคอร์ฟิว ร้านเปิดให้บริการได้เพิ่มอีก 1 ชั่วโมง มีผลมากต่อลูกค้า เพราะที่ผ่านมาแค่ร้านเปิดให้นักดนตรีเล่นได้ มีคนพร้อมต่อคิวกันกันตั้งแต่ 16.00-17.00 น.ผู้บริโภคเข้าใจว่าต้องเข้าร้านเร็วและออกจากร้านเร็ว แต่ทุกคนแฮปปี้หมด ปรับตัวปรับเวลาได้ สะท้อนถึงการอั้นไม่ได้ออกมาพบปะ แฮงเอาท์นอกบ้านเป็นเวลานานด้วย”

พิษโควิดเล่นงานร้านอาหารกลางคืนให้สูญรายได้ปี 2564 เป็นเวลา 6 เดือน การฟื้นตัวกลับมา ชนาสิน ประเมินว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือแตะ 1 ปี เพราะการอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเริ่ม 1 ธ.ค.นี้ ระยะเวลา 1 เดือนสุดท้าย ที่เป็นไฮซีซั่น ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง มีกำลังไม่มากพอจะกอบกู้สถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจได้กลับมาค้าขายปกติ สิ่งที่อยากขอรัฐ คือทำให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติหรือนอร์มอล เพราะคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนพอสมควร และหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆขอให้สื่อสารชัดเจน สร้างความเข้าใจให้ประชาชน อย่างการให้เวลาธุรกิจเพิ่ม 1 ชั่วโมง เป็นเรื่องง่ายที่เข้าใจกันดี ทุกคนพร้อมปฏิบัติตาม 

แม้รัฐคลายล็อกดาวน์ธุรกิจร้านอาหาร แต่ วิน สิงห์พัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชอคโกแลตกรุ๊ป ผู้บริหารร้านชอคโกแลตวิลล์ ซูชิ เอ็กซ์เพรส ยังไม่เปิดร้านชอคโกแลตวิลล์ เพราะตั้งตารอให้รัฐลดเวลาเคอร์ฟิวอย่างน้อย 22.00-23.00 น. ถึงจะเปิด เพราะร้านกินดื่มจะเปิดช่วงเย็น อีกทั้งร้านมีขนาดใหญ่มาก เนื้อที่ 16 ไร่ ใช้พนักงานหลายร้อยชีวิต หากเวลาขายอาหารและเครื่่องดื่มไม่คุ้มกับต้นทุน การปิดจึงเป็นทางเลือกที่ดี

ทว่า ทันทีที่รัฐลดเวลาเคอร์ฟิว บริษัทเร่งเตรียมการเปิดร้านให้ทันวันที่ 22 ต.ค.นี้ ช้าสุดต้องไม่เกิน 31 ต.ค. หรือวันฮาโลวีน

การกลับมาเปิดร้านชอคโกแลตวิลล์อีกครั้งไม่มีกั๊ก จัดเต็มทั้ง 16 ไร่ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ ขาดลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวสัดส่วน 50% แต่หวัง “กำลังซื้อคนไทย” ที่อัดอั้น ไม่ได้ออกจากบ้านนาน มาใช้จ่ายอีกครั้ง

สัญญาณบวกว่าลูกค้าออกมานั่งกินดื่มนอกบ้านแน่นอน คือเมื่อรัฐอนุญาตให้นักดนตรีเล่นในร้านได้ ร้านอาหารกลางคืนหลายแห่งเนืองแน่นด้วยกลุ่มเป้าหมาย

 “สิ่งที่ปลดล็อกให้ธุรกิจร้านอาหารเปิดบริการกลางคืนมากสุดนเวลานี้ คือการให้เล่นดนตรีภายในร้าน เพราะไม่เพียงช่วยให้อาชีพศิลปิน นักดนตรีกลับมาทำงานได้ แต่อาชีพกลางคืนอื่นๆได้ทำมาหากินด้วย ยิ่งกว่านั้น เวลา 1 ชั่วโมงที่ร้านขยายให้บริการไได้ มีผลอย่างมากต่อลูกค้า และธุรกิจ”

อย่างไรก็ตาม ชอคโกแลตวิลล์ ทำรายได้ต่อปีหลัก “หลายร้อยล้าน” การกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง คาดหวังยอดขายเพียงเดือนละ 10 ล้านบาทเท่านั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อยอดขายคือ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

“ข้อจำกัดห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลกระทบต่อการค้าขายในร้านอาหารกลางคืน ซึ่งคาดว่าหายไป 30-40%”

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านอาหารเมื่อกลับมาเปิดให้บริการ ถือเป็นหมวดที่ฟื้นตัวได้เร็วสุด เมื่อเทียบธุรกิจเซ็กเตอร์อื่นๆ เพราะร้านอาหาร การบริโภคเมนูโปรด เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนเมือง โดยเฉพาะที่ผ่านมา ร้านอาหารในห้างเปิดให้บริการได้ บรรดาร้านอาหารเครือข่ายหรือเชนฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ซึ่งบริษัทมีร้านซูชิ เอ็กซ์เพรส ให้บริการเช่นกัน