แนะขั้นตอน จ่าย "เงินปันผล" และ "เสียภาษี" ยังไง...ให้ได้คืน

แนะขั้นตอน จ่าย "เงินปันผล" และ "เสียภาษี" ยังไง...ให้ได้คืน

เมื่อกิจการไปได้สวย กำไรมากพอจะ "จ่ายเงินปันผล" แก่ผู้ถือหุ้น แต่ทราบหรือไม่ว่า “เงินปันผล” ต้อง "เสียภาษี" ถึง 2 รอบ คือ ภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ถือหุ้นที่รับเงินปันผล ฉะนั้น กิจการและผู้ถือหุ้นควรมีความเข้าใจ และวางแผนจัดการเรื่องเงินปันผลให้ดี

ตามหลักเกณฑ์เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หากมีกำไรสุทธิหลังหักภาษี กิจการสามารถจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งการจ่ายเงินปันผลจะต้องจ่ายจากกำไรเท่านั้น หากกิจการมีขาดทุนสะสมอยู่ จะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ หรือหากกิจการมีกำไรมากพอสมควรก็ให้กรรมการมีมติ จ่ายในระหว่างรอบปีบัญชี เป็นเงินปันผลระหว่างกาลได้ 

อีกทั้งก่อนส่งมอบเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น กิจการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วย จึงเท่ากับว่า “เงินปันผล” ต้องเสียภาษีถึง 2 รอบ (ภาษีนิติบุคคล และภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับผู้ถือหุ้นที่รับเงินปันผล)

เมื่อรู้แบบนี้แล้วกิจการและผู้ถือหุ้นควรมีความเข้าใจ และวางแผนจัดการเรื่องเงินปันผลให้ดี โดยเรื่องที่ต้องคำนึงถึงก่อนการจ่ายเงินผล มีดังนี้ค่ะ

  •  อยากจ่ายเงินปันผล… จ่ายได้ตอนไหน 

เงินปันผลคือ การปันผลกำไรของบริษัทคืนแก่ผู้ถือหุ้นทุกคนตามสัดส่วนของเงินลงทุน โดยสามารถจ่ายได้ 2 ลักษณะ คือ

1.เงินปันผลประจำปี เป็นเงินปันผลที่ประกาศโดยบริษัทช่วงหลังปิดงบประจำปี โดยต้องผ่านมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น จึงจะประกาศจ่ายเงินปันผลได้ เป็นการจ่ายเงินปันผลวาระปกติ  

2.เงินปันผลระหว่างกาล หากมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้ทำได้ คณะกรรมการสามารถลงมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งคราว เมื่อเห็นว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้นและจะต้องรายงานให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมครั้งต่อไปด้วย 

จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น

  •  กิจการมีกำไรต้องจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นอย่างไร 

การจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นต้องทำการจ่ายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ และเมื่อมีการจ่ายเงินปันผล 

โดยมีขั้นตอนดำเนินการจ่ายเงินปันผลดังนี้

- เชิญประชุมผู้ถือหุ้น การแจ้งเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสำหรับการจ่ายปันผลประจำปี ให้กิจการประกาศลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน รวมทั้งส่งจดหมายเชิญประชุมทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน

- จัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ที่ประชุมอนุมัติการจ่ายเงินปันผล และจัดทำรายงานการประชุมเก็บไว้เป็นหลักฐาน 

- ประกาศจ่ายเงินปันผล เป็นการบอกกล่าวให้มารับเงินปันผล โดยทุกครั้งที่ประกาศจ่ายเงินปันผลแล้ว กิจการจะต้องส่งจดหมายแจ้งการจ่ายเงินปันผลไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน พร้อมทั้งโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อย 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย  

- จ่ายเงินปันผล การจ่ายเงินปันผลทุกครั้งบริษัทจะต้องจัดสรรกำไรสะสมไว้เป็นทุนสำรอง ร้อยละ 5 ของกำไร จนกว่าทุนสำรองจะเท่ากับร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียน หรือตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท 

ทั้งนี้ถ้ากิจการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะไม่มีข้อกำหนดให้ต้องกันเงินสำรองตามที่กล่าวมาด้านบน กฎหมายบังคับเฉพาะนิติบุคคลรูปแบบบริษัทเท่านั้นค่ะ

- บันทึกบัญชีจ่ายเงินปันผล กระทั่งการจ่ายเงินปันผลเสร็จสิ้น ให้ลงบันทึกบัญชีไว้ในรายการจ่ายเงินปันผลด้วย 

จ่ายเงินปันผล ต้องเสียภาษีอย่างไร

  •  เงินปันผลต้องเสียภาษีอย่างไร 

เนื่องจากเงินปันผลจ่ายจากกำไรของกิจการ ดังนั้น กำไรในส่วนนี้คือกำไรหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการแล้ว จากนั้นก่อนที่จะมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น กิจการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และส่งแบบยื่นเพื่อชำระภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

อัตราภาษีที่ต้องหัก และแบบยื่นภาษีที่ต้องนำส่ง ดังนี้

- คนไทย (ภ.ง.ด.2) หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% 

- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ภ.ง.ด.2) หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% 

- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ภ.ง.ด.2) ได้รับยกเว้น ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 

- นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติ (ภ.ง.ด.2/ภ.ง.ด.54) หักภาษี ณ ที่จ่าย 10%     

  •  ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไป… ผู้ถือหุ้นขอคืนได้หรือไม่ 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การจ่ายเงินปันผลนั้นกิจการต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 10% ของเงินปันผลจ่าย ซึ่งในส่วนของผู้ที่หุ้นที่ได้รับเงินปันผลนั้น ยังต้องพิจารณาทางเลือกในการเสียภาษีบุคคลธรรมดา โดยสามารถเลือกปฏิบัติได้ 2 แบบ คือ 

1.เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% และไม่ต้องนำเงินปันผลมารวมคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาของหุ้นส่วนตอนสิ้นปี (ใช้สิทธิ Final tax)

2.นำเงินปันผลที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี และนำภาษีเงินปันผลที่ถูกหักไว้ ยื่นขอเครดิตภาษีคืนได้  

ที่สำคัญหากใช้เครดิตภาษีเงินปันผลแล้ว จะต้องนำเงินปันผลทุกรายการที่ได้รับมาคำนวณทุกรายการ ไม่สามารถเลือกเพียงบางรายการได้ 

สรุป

เงินปันผลคือผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับจากผลการเนินการของกิจการเมื่อมีกำไรคงเหลือ ดังนั้น กิจการควรมีความเข้าใจ เพื่อวางแผนเรื่องของการจ่ายเงินปันผล รวมถึงภาษีในส่วนของผู้ถือหุ้นเองก็สามารถคำนวณ และเลือกแนวปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดนั่นเองค่ะ

Source by : Inflow Accounting