“พีทีทีจีซี” ทุ่ม 5 พันล้านดอลลาร์สู่ Net Zero ตั้งเป้าธุรกิจเติบโต 4%

“พีทีทีจีซี” ทุ่ม 5 พันล้านดอลลาร์สู่ Net Zero ตั้งเป้าธุรกิจเติบโต 4%

“พีทีทีจีซี” ทุ่ม 5 พันล้านดอลลาร์สู่ Net Zero ปี2050 ปรับโครงสร้างธุรกิจเน้นลงทุนเทคโนโลยี 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ลงทุนอีอีซี 3-5 หมื่นล้านบาท แง้มเงินลงทุนรวมปี65 ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ตั้งเป้าธุรกิจเติบโต 4% เฉลี่ยใน4-5 ปีต่อเนื่อง

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า PTTGC ตั้งเป้าปล่อยแก๊สเรือนกระจบเป็นศูนย์ “Together To Net Zero” ภายในปีค.ศ.2050 โดย 10 ปีจะต้องลดการปล่อยก๊าซ 20% และปีค.ศ.2030 จะต้องลดลงอีก 30% และเป็น 0 ปีค.ศ.2050 เพื่อสร้างความสมดุลในการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเป้าธุรกิจจะเติบโตแข็งแรงและต้องยั่งยืน คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน ผ่านกรอบการดำเนินงาน 3 เสาหลัก ในการมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์การขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven) การขับเคลื่อนด้วยการบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ (Portfolio-driven) และการขับเคลื่อนการชดเชยคาร์บอน (Compensation-Driven)

อย่างไรก็ตาม เกือบ10 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งบางคนมองว่าโลกร้อนเกิดจากการทำธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งตรงนี้มองเป็นโอกาสในการผลิตเคมีที่ดี แล้วต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไป จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน PTTGC เป็นที่หนึ่งของโลกที่ทำธุรกิจเคมีสร้างความยั่งยืน และทุกเรื่องทำบนพื้นฐานเพื่อต่อยอด ในขณะที่คู่ค้าที่เกี่ยวข้องสามารถยืดอกได้ว่า PTTGC ทำธุรกิจมีผลกำไรและยังช่วยโลกร้อนด้วย

“มากกว่าการตั้งเป้าหมายแต่คือความมุ่งมั่น เรามีบอร์ดดูเรื่องโลกร้อน มีแผนระยะสั้นระยะยาวที่ชัดเจนและปฎิบัติได้จริง เราลดก๊าซเรือนกระจกแต่ไม่ลดการเติบโต ในช่วง 10ปี มีการขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่หลายหลาย ทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์ เพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก เรซิ่น และโพลิเมอร์ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่หลากหลาย ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทดแทนการนำเข้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่างๆ และช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมของประเทศ”

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี สนับสนุนการวิจัย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจ รวมทั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์สังคมให้ดียิ่งขึ้น อาทิ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามา ใช้พลังงานใหม่ๆ ทั้ง พลังงานทดแทน โซลาร์ พลังงานลม เพื่อไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับภาพรวมการลงทุนเพื่อลดและกำจัดก๊าซเรือนกระจก เบื้องต้นระหว่างปี2021-2050 วางไว้ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการวางแผนการลงทุน 10 ปีรวมกว่า1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกส่วนลงทุนในการปรับโครงสร้างธุรกิจ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเน้นลงทุนเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจสีเขียวและปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน เป็นต้น อีกทั้งจะลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 3-5 หมื่นล้านบาท เป็นเวลา 2-3 ปี ที่ก่อนหน้านี้ลงทุนไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าการเติบโต 4% โดยโตเฉลี่ย 4-5 ปีอย่างต่อเนื่อง

นายคงกระพัน กล่าวว่า ในส่วนของแผนการนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยช่วงแรกการลงทุนจะสูงประสิทธิภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร ต่อมาได้มีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีต้นทุนที่ต่ำลง มีประสิทธิภาพการกักเก็บเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯ มีทั้งร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ บวกกับทีมนวัตกรรมขององค์กร อีกทั้งยังได้ลงทุนเวนเจอร์แคปปิตอลในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 17.70 ล้านตันต่อปี โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละประมาณ 8 ล้านตัน จากทั้งประเทศปีละประมาณ 400 ล้านตัน บริษัทฯ มั่นใจว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0 ตามเป้าหมายและตั้งเป้าเพราะบริษัทฯ ที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้น้อยที่สุด ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีกักเก็บมาใช้ จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 6.3 ล้านตัน รวมกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ช่วยลด 1.4 ล้านตัน และอีก 1 ล้านตันคือการปลูกป่า