พีทีทีจีซีฉวยโอกาสโควิด ไล่ซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ

พีทีทีจีซีฉวยโอกาสโควิด  ไล่ซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจ

พีทีทีจีซี เดินหน้าฉวยโอกาสวิกฤตโควิด-19 เจรจาแผนการควบรวมหรือซื้อกิจการ ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำ คาดชัดเจนในปีนี้ เผยกลางปีนี้ จ่อสรุปเลือกพันธมิตรรายใหม่ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์สหรัฐ

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ระบุว่า บริษัท อยู่ระหว่างการศึกษาแผนการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่บริษัทยังมีมีสายการผลิต เช่น โรงงานเม็ดพลาสติก High Performance Product เพื่อให้สามารถขยายตลาดเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดขยายเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจที่หลากกลายมากขึ้น คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 64

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ ทำให้อาจเห็นภาพของการขายธุรกิจ เพื่อเสริมลดความเสี่ยงมากขึ้น และราคาไม่แพง จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะทำดีลM&A และเป็นเป้าหมายใหญ่ของบริษัทในปีนี้ด้วย”

ก่อนหน้านี้ PTTGC ได้ทบทวนแผนการลงทุนโครงการใหม่ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังทั่วโลกเผชิญผลกระทบโควิด-19 โดยในส่วนของการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) มองว่า ยังเป็นโอกาสในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ด้วย

นายคงกระพัน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ว่าแม้ว่า บริษัทฯจะเลื่อนการตัดสินใจลงทุนออกไปจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 และบริษัท Daelim Industrial Co., Ltd. (แดลิม) ผู้ประกอบธุรกิจก่อสร้างและผลิตเคมีภัณฑ์ในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ได้ตัดสินใจถอนการลงทุนในโครงการไปแล้ว

ขณะนี้ บริษัท ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าเจรจากับพันธมิตรร่วมลงทุนรายใหม่ ประมาณ 2-3 ราย โดยตั้งเป้าหมายว่า จะได้ข้อสรุปการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในกลางปี 2564 อีกทั้งยังได้เริ่มการเจรจากับผู้รับเหมาควบคู่กันไปด้วย ส่วนกรณีที่นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเตรียมเข้ารับตำแหน่งในเร็วๆ นี้ จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้

ก่อนหน้านี้ PTTGC ประเมินโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท และได้เลื่อนสรุปการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID) ออกไปเป็นปี 25664 จากเดิมคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3/2563

สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปี2564 บริษัท มีแผนจะใช้งบลงทุนต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมงบลงทุนเข้าซื้อกิจการ โดยคาดว่า รายได้ จะเติบโตในระดับ 8-10% ซึ่งเป็นการเติบโตตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8-10% หลังเปิดเครื่องการผลิตครบทั้ง 3 โครงการตั้งแต่ช่วงปลายปี2563 ถึงต้นปี 2564 ได้แก่

1. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนในแนฟทา แครกเกอร์ (Naphtha Cracker) เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบของบริษัทฯ และต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน และโพรพิลีน 250,000 ตัน มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท, 2โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) และ 3 โครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ (Polyols) 130,000 ตันต่อปี มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท

“ผลประกอบการปีนี้จะดีขึ้นหรือลดลง ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ น้ำมันดิบ ซึ่ง กลุ่ม ปตท.ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และความผันผวนทางด้านธุรกิจที่อาจส่งผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ด้วย ขณะที่ผลกระทบโควิด-19 ทำให้การลงทุนยังต้องระมัดระวังเรื่องกระแสเงินสด และศึกษาแผนลงทุนให้รอบครอบ”