'สศก.' ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้น ดัน จีดีพีเกษตร ปีนี้โต 2.7%

'สศก.' ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้น ดัน จีดีพีเกษตร ปีนี้โต 2.7%

สศก. เผยปัจจัยโควิดคลี่คลาย ทำเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ดันจีพีดีเกษตรไตรมาสแรกฟื้น ขยายตัว 1.4% ขณะที่ปี 2564 คาดขยายตัว 1.7-2.7% ด้าน จุรินทร์“เร่งเครื่อง” ส่งออกข้าวตั้งเป้าปีนี้ 6 ล้านตัน ดึง“จีทูจี”กลไกส่งออกเพิ่ม

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2564 (ม.ค.- มี.ค.) พบว่า ขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากฝนที่ตกสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี2563 ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้เพิ่ม ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐ เช่น การขยายช่องทางการตลาดทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การประกันรายได้ รวมถึงมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การส่งเสริมอาชีพเกษตร และการพักชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาในแต่ละสาขา พบว่าสาขาพืช ขยายตัว 3.6% พืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และ อ้อยโรงงาน  ส่วนพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงในปี 2562 ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของต้นทำให้มีการติดผลปาล์มน้อย และทะลายปาล์มน้ำหนักน้อย ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่จึงลดลง

161658042389

ขณะที่สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 0.5% เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิต ตามความต้องการบริโภคของตลาด  ส่วนสาขาประมง หดตัว 7.3% เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและผลกระทโควิด-19 ด้านสาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 0.7% โดยกิจกรรมการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญเพิ่ม

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7 %เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยทุกสาขาการผลิต คาดว่าปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะมีมากกว่าปีที่ผ่านมาการใช้เทคโนโลยีในการผลิต รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว

“ปี 2564 ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง เช่นความแปรปรวนของสภาพอากาศ ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์"

161658043578

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทิศทางตลาดข้าวไทยปี 2564 ร่วมกับร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) หรือทูตพาณิชย์ 17 ประเทศ และพาณิชย์จังหวัด 20 จังหวัด ร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference ว่ากำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2564 ตั้งเป้าไว้ที่ 6 ล้านตัน จากปีที่แล้วส่งออกข้าว 5.7 ล้านตัน มุ่งเน้นตลาดสำคัญ 3 ตลาด คือ 1.ตลาดพรีเมียม 2.ตลาดทั่วไป 3.ตลาดเฉพาะ 

ทั้งนี้ ได้กำหมดมาตรการเร่งรัดเปิดตลาด G to G เชิงรุก ได้กำหนดไว้ทั้งหมด 4 ตลาดใหญ่ ประกอบด้วยอินโดนีเซียไม่กี่วันที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ MoU กับอินโดนีเซีย เปิดตลาดข้าวอินโดนิเซีย 4 ปีจำนวนไม่เกิน 4,000,000 ตัน,ตลาดบังกลาเทศ ทำเอ็มโอยูเปิดตลาด5 ปี 5,000,000 ตัน, ตลาดอิรักซึ่งไทยสามารถเข้าไปประมูลขายข้าวในอิรักได้แล้ว ตลาดจีนที่ได้ทำ MoU ในอดีตและจีนยังมีภาระตาม MoU ที่ต้องนำเข้าข้าวเก่าอีก 300,000 ตัน ตกค้างต้องเดินหน้าต่อไป