คณิศ ชี้ 5 G หนุนลงทุนอีอีซี แตะ 2.2 ล้านล้านบาท พลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศ

คณิศ ชี้ 5 G  หนุนลงทุนอีอีซี แตะ 2.2 ล้านล้านบาท พลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศ

"คณิศ”ชี้ 5G เป็นกุญแจสำคัญเพิ่มการลงทุนในพื้นที่อีอีซีตามเป้า 2.2 ล้านล้านใน 5 ปี ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต่อเนื่อง และลดต้นทุนของเอกชนในภาคอุตสาหกรรม เตรียมขยายผลเมืองอัจฉริยะ 5G จากบ้านฉางไปยังพื้นที่อื่น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในงานสัมนา “EEC Future: 5G ...ดันศักยภาพไทยแข่งขันเวทีโลก” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วานนี้ (18 ต.ค.) ว่าการตั้งเป้าหมายในการลงทุนในอีอีซีที่จะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ 2.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในระยะแรก 4 ปีที่เริ่มทำอีอีซีมีการตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

ซึ่งเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นนั้นเนื่องมาจากการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ที่ทำให้เกิดการลงทุนในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน โดยโครงการที่เกี่ยวข้องหลังจากที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เมืองอัจฉริยะ การพัฒนาเมืองการบินรอบพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และการลงทุนในส่วนของต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development :TOD) 

สำหรับในส่วนของโรงงานของผู้ประกอบการจะมีการลงทุนในส่วนของโรงงานที่เป็นสมาร์ทออโตโมชั่นที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็น 5G เพื่อให้โรงงานเป็น Smart Factory ที่มีการใช้ระบบการควบคุมเครื่องจักรที่เป็นการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบ Internet of Thing มากขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับ 10,000 โรงงานในอีอีซี ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นต่อเนื่องได้หลังจากที่ไทยมีการเดินหน้าเรื่องของ 5G ในพื้นที่อีอีซี โดยภาคเอกชนก็มีการลงทุนที่ต่อเนื่องในส่วนของที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เป็น Big data ต่างๆมากขึ้น 

เร่งผลิตบุคลากรรองรับ5จี

"5G จะเป็นเทคโนโลยี ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศ พัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศครั้งใหญ่มาก โดยในเรื่อง 5G ส่วนใหญ่ไปใช้ในเรื่องการผลิต ที่ช่วยลดต้นทุนต่างๆของภาคเอกชนลง ซึ่งมีผลในทางกว้างมาก ครอบคลุมทั้งในเรื่องสมาร์ทแฟคตอรี่ เมืองอัจฉริยะ ซึ่งถือว่าเป็นการดิสรับชั่นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศ"นายคณิศ กล่าว 

สำหรับเรื่องความต้องการในเรื่องบุคลากรได้มีการวางแผนเพื่อรองรับความต้องการคนในเรื่องดิจิทัลที่มีทักษะรองรับ 5G กว่า 1 แสนตำแหน่ง ซึ่งได้มีการวางแผนร่วมกับบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเช่นบริษัทหัวเหว่ย เทคโนโลยีทำให้มั่นใจว่าแรงงานในเรื่องนี้จะมีมากพอที่จะรองรับการขยายตัวของ 5G ในพื้นที่ 

ในส่วนของชุมชนก็จะมีการขยายพื้นที่จากบ้านฉางจ.ระยองที่เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี 5G จะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆที่มีความพร้อมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5Gในชุมชนต่างๆเพิ่มขึ้น