“สุพัฒนพงษ์” ยก “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ต้นแบบโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด

“สุพัฒนพงษ์” ยก “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ต้นแบบโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด

“สุพัฒนพงษ์” ย้ำ รัฐหนุนโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเต็มสูบ หวังลดคาร์บอนฯ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ยก “โซลาร์ลอยน้ำไฮบริด” เขื่อนสิรินธร ต้นแบบ “ผู้ว่า กฟผ.” รับลูก เร่งสร้างจุดเช็คอินจุดพลุท่องเที่ยวอีสาน คาดเปิดรับนักท่องเที่ยวม.ค.ปีหน้า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในการเดินทางไปตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำ และการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า และชมนวัตกรรมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดกับพลังน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประทับใจโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ โดยโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และนำพลังน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงที่ความเข้มแสงไม่เพียงพอหรือช่วงกลางคืน ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่ปกติแล้วจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ 

นอกจากนี้ ในการออกแบบและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้คำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ จึงเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แผงโซลาร์เซลล์ชนิดกระจกทั้งสองด้าน (Double Glass) สามารถทนความชื้นได้สูงและไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ โดยทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) เป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ อีกทั้ง การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนยังช่วยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ถึงประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 37,600 ไร่ นอกจากนี้ การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์และทุ่นลอยน้ำที่ปกคลุมผิวน้ำ ยังช่วยลดการระเหยของน้ำได้ประมาณ 460,000 ลบ.ม./ปี

“สุพัฒนพงษ์” ยก “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ต้นแบบโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด

“นายกฯ “ได้ชื่นชมการดำเนินการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์แห่งนี้ด้วยว่า ช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน เป็นการเดินหน้าประเทศสู่สังคมไร้คาร์บอน ที่ได้พยายามผลักดันให้กลุ่มธุรกิจกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งเป้าโดยประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ แต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเองก็ได้พยายามตั้งเป้าเช่นกัน อาทิ เกาหลีใต้กำหนดว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ.2050 ส่วนจีนคาดว่าจะบรรลุในปี ค.ศ. 2060” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ เพื่อนบ้านไทยในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าในปีค.ศ.2070 และเวียดนามคาดว่าจะบรรลุได้ในปีค.ศ.2060 ไทยจึงต้องร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งมักส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ตั้งเป้าจะลดก๊าซคาร์บอนบอนไดออกไซด์ให้เป็น 0% หรือ Net Zero ภายในปี2565-2570 ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นภาระประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ที่ต้องใช้ในการลดก๊าซคาร์บอนบอนไดออกไซด์ลง  โดยภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยคาร์บอนบอนไดออกไซด์มากสุด 250 ล้านตันต่อปี จึงตั้งเป้าว่าภาคพลังงานไทยจะต้องลดคาร์บอนบอนไดออกไซด์เหลือเพียง 90 ล้านตันต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้าได้

“ท่านนายกฯ ได้สอบถามถึงศักยภาพปริมาณน้ำในเขื่อนสิรินธร ถึงการรองรับปริมาณน้ำฝน และได้กำชับในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แก้ไขในแต่ละจุดเพื่อลดผลกระทบบรรเทาความเดือดร้อนต่อประชาชน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่บางโครงการติดปัญหาเรื่องผลกระทบต่อชาวบ้าน ดังนี้ ต่อจากนี้ไป ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จะต้องลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนและเร่งสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านต่อไป” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ได้เร่งก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ หรือ Nature Walkway บริเวณโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เพื่อเป็นจุดเช็คอินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี ถือเป็นการสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ให้มีความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจดจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่แล้ว ยังมีโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถมองในมุมสูงได้ภาพที่สวยงาน ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับภูมิทัศน์รอบพื้นที่รวมถึงก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินชม โดยกฟผ.จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในเดือนม.ค.2565 คาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคักและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

สำหรับการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินชม ถือเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งในช่วงของการก่อสร้าง กฟผ.ได้จ้างผู้ประกอบการแพท่องเที่ยว เรือ และเจ็ตสกีจากชุมชนรอบพื้นที่มาใช้ในงานก่อสร้าง รวมถึงเช่าแพเพื่อเป็นที่พักให้กับคนงาน ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในช่วงที่นักท่องเที่ยวลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คิดเป็นมูลค่าการจ้างงานในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 30 ล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ถือเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ไฮบริดกับพลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ จากขอบเขตพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรประมาณ 760 ไร่ โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์อยู่บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดกระจกทั้งสองด้าน (Double Glass) สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทั้งนี้ กฟผ. ยังเตรียมพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของกฟผ. อีก 9 เขื่อนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ รวมทั้งอยู่ในช่วงพิจารณาศักยภาพเพิ่มเติมอีกกว่า 5,000 เมกะวัตต์ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของกฟผ. ในการก้าวเข้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริงในอนาคต

นอกจากนี้ วันที่ 20 ต.ค.2564 กฟผ.จะร่วมมือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของกฟผ.และลงนามความร่วมมือร่วมกันในโครงการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าอย่างยั่งยืน