โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจ แม้รัฐคลายล็อก คนไม่กลับมาใช้ชีวิตปกติ เอกชนไม่ลงทุน

โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจ แม้รัฐคลายล็อก คนไม่กลับมาใช้ชีวิตปกติ เอกชนไม่ลงทุน

เมื่อรัฐบาลต้องเร่งจัดการ 2โจทย์สำคัญ “คุณภาพชีวิต” ทำอย่างไรให้สุขภาพจิตประชาชนดีขึ้น จะลดปัจจัยด้านลบที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตประชาชนอย่างไร และ “เศรษฐกิจ” ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น เอกชนกล้าลงทุน ให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อได้

เปิดผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ พบคนไทยเครียดขึ้น กลัวโควิดระบาดซ้ำ แม้รัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุม ประชาชนจำนวนมากยังไม่กลับมาใช้ชีวิตตามเดิม นับเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและภาคธุรกิจในปัจจุบัน

9 ต.ค. ที่ผ่านมา กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจคนไทยทั่วประเทศ 1,159 คน ถึงสถานการณ์สุขภาพจิตและผลกระทบจากโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 4-6 ต.ค. 2564

ผลสำรวจพบประเด็นน่าสนใจ 4 ข้อ

1.ครึ่งหนึ่งของคนไทย รู้สึกสุขภาพจิตแย่ลง

ผลสำรวจพบว่า 50.2% ของกลุ่มตัวอย่างตอบว่าสุขภาพจิตแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ 41.9% มีสุขภาพจิตเหมือนเดิม และ 7.9% ตอบว่าสุขภาพจิตดีขึ้น

2.ปัจจัยที่กระทบสุขภาพจิตคนไทยมากสุดในปีนี้คือ โควิด รองลงมาคือปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ผลสำรวจพบว่า โควิดยังเป็นปัญหาใหญ่ เกินครึ่ง (51.6%) ของประชากรมีสุขภาพจิตแย่ลง เครียด วิตกกังวล เพราะกลัวโควิดกลับมาระบาดใหม่ ขณะที่ 44.9% ยังกลัวติดโควิด และ 13.5% กังวลเรื่องการฉีดวัคซีน

ปัจจัยอื่นๆ รองลงมา ที่สร้างความเครียดให้คนไทย ได้แก่ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พบว่า 

- 43.1% มีรายได้ไม่พอใช้จ่าย มีหนี้ 

- 15.3% กังวลเรื่องการทำธุรกิจ ธุรกิจเจ๊ง 

- 10.2% กังวลเรื่องตกงาน ไม่มีงานทำ

- 9.7% กังวลเรื่องถูกลดเงินเดือน ไม่มีโบนัส

ขณะที่ปัญหาอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาของบุตรหลานในการเรียนช่วงโรงเรียนปิด ปัญหาการเรียนออนไลน์ ปัญหาน้ำท่วม โดยมี 31.7% ที่กังวลว่าบุตรหลานจะเรียนได้ช้า เป็นห่วงเรื่องคุณภาพการศึกษา และ 18.1% กังวลกับปัญหาน้ำท่วม

3.หลังรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ การได้เล่นกีฬา ไปสวนสาธารณะ ช่วยคลายเครียดให้ประชาชนมากสุด

จากผลสำรวจ มากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรตอบว่า กิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด หลัง ศบค. มีมาตรการผ่อนคลายออกมา คือการได้ไปเล่นกีฬา วิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะ

อื่นๆ รองลงมา ได้แก่

- 17.2% เดินเล่น ช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า

- 16% เสริมสวย ทำเล็บ ตัดผม

- 14.2% กินอาหารที่ร้านอาหารและคาเฟ่

- 9.9% เที่ยวต่างจังหวัด 

- 2.3% ไปนวด หรือสปา

4.แม้รัฐบาลออกมาตรการผ่อนปรน แต่มีประชากรมากถึง 44.9% เลือกอยู่บ้าน ไม่ไปไหน เพราะกลัวติดโควิด 

จากผลสำรวจข้างต้น ช่วยให้ภาคธุรกิจและรัฐบาลเข้าใจผู้บริโภคและประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น สิ่งที่ภาคธุรกิจและรัฐบาลควรเตรียมตัว มีอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก เนื่องจากประชาชนยังกลัวการกลับมาระบาดของโควิดมากสุด แม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมแล้ว คนจำนวนมากยังเลือกอยู่บ้าน เพราะกลัวติดโควิด ดังนั้นหากรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจด้านสาธารณสุขให้ได้ ให้ประชาชนกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกันภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญเรื่องมาตรการควบคุมโรค เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ รู้สึกปลอดภัยในการใช้บริการ 

ทั้งนี้ภาพคนเริ่มเดินทางท่องเที่ยว อาจไม่สามารถสะท้อนความมั่นใจทางเศรษฐกิจได้จริง สาเหตุที่คนเดินทางท่องเที่ยว เพราะเบื่อ อัดอั้น ไม่ได้เที่ยวในช่วงที่ผ่านมามากกว่า ตัวชี้วัดจริงว่าประชาชน ภาคเอกชนเชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้น จะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ ควรดูจากการลงทุนภาคเอกชนในประเทศว่าขยายตัวหรือเปล่า โดยเฉพาะการลงทุนที่สัมพันธ์กับอุปสงค์ในประเทศ เพราะสะท้อนความความรู้สึกจริงของผู้บริโภค และภาคธุรกิจมากกว่า

ประการที่สอง ยุคโควิด การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องสำคัญ คนต้องการพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทำกิจกรรมในที่สาธารณะมากขึ้น รัฐบาลสามารถเยียวยาจิตใจประชาชน ให้ประชาชนผ่อนคลาย ด้วยการจัดหา/บริหาร พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน หากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น โรงแรม ห้าง ร้านอาหาร สามารถจัดสรรพื้นที่สีเขียว/พื้นที่เปิดให้ลูกค้า ก็เป็นกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่นเดียวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น กีฬา พื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับครอบครัว ก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคยุคนี้

ประการที่สาม ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาใหญ่ กำลังกัดกินคนไทยจำนวนมาก พบได้ในทุกช่วงวัย เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ สังคมต้องช่วยกันดูแล โดยเฉพาะครอบครัวต้องใส่ใจ หมั่นสังเกตกันและกัน

สำหรับรัฐบาล มีโจทย์สำคัญ 2 เรื่อง หนึ่ง โจทย์ด้านคุณภาพชีวิต ทำอย่างไรให้สุขภาพจิตประชาชนดีขึ้น จะลดปัจจัยด้านลบที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตประชาชนอย่างไร สอง โจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น เอกชนกล้าลงทุน ให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อได้