"อนุสรณ์ ธรรมใจ" หวั่น "เอเชียประกันภัย" ล้ม! จุดฉนวนวิกฤตการเงินรอบใหม่

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" หวั่น "เอเชียประกันภัย" ล้ม! จุดฉนวนวิกฤตการเงินรอบใหม่

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตบอร์ดแบงก์ชาติหวั่นเอเชียประกันภัยล้ม จุดฉนวนวิกฤตการเงินรอบใหม่ ชี้ธุรกิจประกัน สหกรณ์ออมทรัพย์ โรงรับจำนำยังน่าห่วง จี้ คปภ. ออกมาตรการเพิ่มส่งเสริมให้ "เพิ่มทุน-ควบรวมกิจการ"

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึง การถอนใบอนุญาตและปิดกิจการของบริษัทเอเชียประกันภัยอาจไม่ได้เป็นเพียงแค่รายเดียว เนื่องจากมีบริษัทประกันภัยจำนวนหนึ่งที่มีฐานะการเงินไม่เข้มแข็งนัก และมีปัญหาสภาพคล่องอยู่ ประชาชนจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนทำประกัน ซึ่งในระยะแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ธุรกิจประกันภัยได้รับผลกระทบน้อยมาก และบริษัทประกันจำนวนไม่น้อยได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส  จากการสำรวจข้อมูลของ คปภ. เมื่อปีที่แล้ว พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกภาคส่วน รวมถึงรายได้และความสามารถในการใช้จ่าย ทั้งนี้ จากการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายช่องทาง ผู้คนจึงตระหนักและมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้แนวโน้มยอดขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับยอดขายทั้งหมดของธุรกิจประกันใน 1-2 ปีที่ผ่านมา

การปล่อยให้เกิดการติดเชื้อโควิดจำนวนมากจากการบริหารจัดการวัคซีนล่าช้า ความล้มเหลวในการควบคุมระบาดระลอกสาม ทำให้ธุรกิจประกันบางแห่งที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้ว ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ขอเตือนให้ระมัดระวัง กิจการธุรกิจประกัน สหกรณ์ออมทรัพย์ ธุรกิจโรงรับจำนำจะมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มเติม นอกจากนี้ขอให้เฝ้าระวัง “หนี้เสีย” ของกลุ่มพิโกไฟแนนซ์และกิจการเช่าซื้อขนาดเล็ก

อ่านข่าว : บล.ยูโอบี ชี้ ปิด เอเชียประกันภัย กดดันเซ็นทริเม้นท์ลงทุน"หุ้นกลุ่มประกัน"

ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ลุกลาม เพราะจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงินได้และอาจมาเร็วกว่าคาด ต้องเร่งใช้เม็ดเงินอย่างต่ำ 5-7 แสนล้านบาท เพื่อออกมาตรการรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้  การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงภาคธุรกิจ การลดค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงการใช้เงินช่วยเหลือโดยตรงกับครัวเรือน หากไม่ทำจะทำให้กิจการขนาดย่อมขนาดเล็กขนาดกลางกว่า 2 แสนรายขาดสภาพคล่อง และอาจต้องปิดตัวลงอีก และกระทบครัวเรือนกว่า 3 ล้านครัวเรือนที่จะยากจนลงและมีหนี้สินล้นพ้นตัว อย่างไรก็ตาม หากเปิดประเทศได้เต็มที่และไม่มีปัญหาการกลับมาระบาดระลอกสี่ของโควิดก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินช่วยเหลือโดยตรงตามที่เสนอ

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า จากงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ตรงกันว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในประเด็นการรับรู้ความเสี่ยงส่วนบุคคลจะส่งผลเชิงบวกต่อความต้องการซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากการล็อกดาวน์และการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของครอบครัวรายได้น้อยมากและครอบครัวชนชั้นกลางค่อนข้างมาก การซื้อประกันหรือการจ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่การซื้อประกันเพิ่มขึ้นเกิดขึ้นในกลุ่มกิจการและนิติบุคคลหรือผู้มีรายได้สูง

กรณีของบริษัทเอเชียประกันภัยนั้นเป็นผลมาจากความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยงและการบริหารสภาพคล่องของบริษัทมากกว่าผลจากธุรกิจอุตสาหกรรมประกันและเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม สภาพวิกฤติเศรษฐกิจโดยรวม อัตราผลตอบแทนต่ำยาวนานในตลาดตราสารหนี้ ธุรกิจประกันที่มีการแข่งขันกันสูง ตลอดจนความไม่สามารถจัดการผลกระทบภัยพิบัติจากโรคระบาดและภัยพิบัติน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพของภาครัฐทำให้ “ฐานะทางการเงิน” ของธุรกิจประกันหลายแห่งย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว บริษัทเอเชียประกันภัยมีหนี้สินกว่า 4.4 พันล้านบาท บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 ได้ทยอยเพิ่มทุนจดทะเบียนสองครั้ง ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท

ขณะนี้ คณะกรรม คปภ. สั่งห้าม เจ้าพระยาประกันภัย รับประกันวินาศภัยชั่วคราว และสั่งถอนใบอนุญาต บริษัทเอเชียประกันภัย สะท้อนปัญหาสภาพคล่องในธุรกิจประกันที่อาจลุกลามไปสู่สถาบันการเงินประเภทอื่นๆได้ กรณีของบริษัทเอเชียประกันภัยนั้น มีฐานะการเงินไม่มั่นคง การดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน สภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า รวมถึงการเสนอขายกรมธรรม์ไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

แม้ว่าที่ผ่านมา คปภ. ได้ออกมาตรการเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันวินาศภัยเมื่อวันที่ 30 ก.ย. แต่ก็เพียงช่วยบรรเทาปัญหาลงได้บ้างเท่านั้น โดย 7 มาตรการที่ออกมาจะเกี่ยวกับการผ่อนคลายเกณฑ์การคำนวณเงินกองทุนและการผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 รวมทั้งการยอมให้นำเอาเบี้ยประกันค้างรับมาใช้เป็นสินทรัพย์หนุนหลัง มาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นและอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและความเข้มแข็งของธุรกิจประกันในระยะยาวอ่อนแอลง  เนื่องจากบริษัทประกันหลายแห่งไม่ได้มีฐานะทางการเงินแข็งแรงพอที่จะรองรับกับการเคลมโควิดในระดับพันล้านบาทขึ้นไปได้ หรือการเคลมคิดระดับหมื่นล้านบาททั้งระบบ และจำนวนผู้ร้องเรียนเคลมก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อถูกซ้ำเติมโดยการเคลมประกันภัยพิบัติจากน้ำท่วมอีก ฐานะทางการเงินยิ่งอ่อนแอลง ตอนนี้ต้องทำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมและกิจการต่างๆในเขตเมือง ฉะนั้น ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการที่มีอยู่โดย คปภ. ขณะนี้ คือ การส่งเสริมให้มีการเพิ่มทุนเพื่อให้ฐานะของบริษัทประกันเข้มแข็งขึ้น และสร้างจูงใจให้เกิดการควบรวมกิจการ การจัดโครงสร้างใหม่ของกลุ่มธุรกิจธนาคารและการเงินรวมทั้งการขยายพรมแดนทางธุรกิจโดยอาศัยฐานลูกค้าที่มีอยู่จะทำให้บริษัทธุรกิจประกันขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับผลกระทบ การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อการควบรวมของธุรกิจประกันขนาดเล็กกันเองหรือกับสถาบันการเงินอื่นๆ อาจมีความจำเป็น

นอกจากนี้ จะเห็นการหลอมรวมของธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ ธุรกิจประกัน ธุรกิจค้าปลีกและเครือข่ายมากขึ้น องค์กรที่จะอยู่รอดได้จึงจำเป็นต้องมีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม หรือ จำเป็นต้องทำธุรกิจแบบครบวงจรมากขึ้น ด้วยการผนวกรวม ทั้งแนวตั้งและแนวนอน (Vertical and Horizontal Integration) นอกจากนี้ ควรสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อให้ธุรกิจประกันประคับประคองธุรกิจไปให้ได้ในช่วงนี้ และในภาพรวม ธนาคารอาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกหากมีความจำเป็น   

ส่วนนโยบายการคุมเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ธุรกิจเช่าซื้อ รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า แม้จะมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนรายได้น้อยที่ต้องแบกรับภาระอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง แต่จะผลักดันให้คนจนไปกู้นอกระบบมากขึ้น เพราะธุรกิจเช่าซื้อจะไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับคนจนที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงได้เพราะถูกกำหนดเพดานไว้ เมื่อไม่คุ้มกับความเสี่ยงก็จะไม่ปล่อยกู้ กลุ่มคนจนเหล่านี้จะหันไปกู้นอกระบบซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงกว่ามากและมีความเสี่ยงที่จะถูกคดโกงหรือเอาเปรียบลูกหนี้ได้ การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย จึงเป็นนโยบายที่ไม่มีประสิทธิผลมากนักในการแก้ปัญหา เหมือนจะช่วย “คนจน” แต่กลับสร้างปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือวัดความเสี่ยง ในหลักการทางการเงิน ยิ่งเสี่ยงสูงอัตราดอกเบี้ยยิ่งสูงเพื่อชดเชยความเสี่ยง และดอกเบี้ยสะท้อนต้นทุนของการทำธุรกิจ ซึ่งหากเป็นรายย่อยมากๆ มีการเรียกเก็บเป็นรายวันจะยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น การแก้ปัญหาธุรกิจเช่าซื้อคิดอัตราดอกเบี้ยสูงจึงต้องแก้โดยการเปิดเสรีทางการเงินเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง และเพิ่มการแข่งขัน ไม่ให้มีอำนาจผูกขาด ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยปรับลงมาเอง และจะไม่มีกิจการเช่าซื้อใดคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เหมาะสม เพราะหากกิจการทำเช่นนั้นจะสูญเสียธุรกิจให้คู่แข่งที่คิดอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า เป็นธรรมกว่า กลไกตลาดจะทำงานหากปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีจริง