เปิดประเทศหนุนเชื่อมั่นลงทุน บีโอไอ เปิดเกมรุกดึงต่างชาติ

เปิดประเทศหนุนเชื่อมั่นลงทุน  บีโอไอ เปิดเกมรุกดึงต่างชาติ

“บีโอไอ” ชี้เปิดประเทศหนุนความเชื่อมั่นการลงทุน ประเมินหลังโควิดแนวโน้มลงทุนสดใส คาดปีนี้คำขอส่งเสริมแตะ 6-7 แสนล้าน ปีหน้าหลายธุรกิจรับอานิสงค์เศรษฐกิจโลกฟื้น เล็งดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย เตรียม 3 เครื่องมือดึงผู้เชี่ยวชาญเข้าทำงานในไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในขณะนี้มีสัญญาณบวกชัดเจน เพราะมีหลายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี มีความสนใจลงทุนจากต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและเหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจระยะยาว 

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ แปรรูปเกษตรและอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วนและการผลิตพลังงานไฟฟ้า มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สูงกว่า 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าคำขอทั้งปีของปี 2563 โดยเป็นการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประมาณ 30% รวมทั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง และคาดว่าคำขอรับการส่งเสริมทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ 6-7 แสนล้านบาท

อ่านข่าว : หอการค้าลุยภารกิจดึง“จีน-อินเดีย”ลงทุนไทย

ส่วนในปี 2565 จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการลงทุนจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะมีบทบาทช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง เพราะการลงทุนจะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นตามมาอีกมาก ทั้งการจ้างงาน การก่อสร้าง การซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ การผลิตสินค้าส่งออก รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาบุคลากร 

เศรษฐกิจโลกฟื้นหนุนลงทุน

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของการลงทุน คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกของไทยที่เติบโตสูงกว่า 15% ในช่วง 8 เดือนของปี 2564 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและอาหารแปรรูป ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น 20% และการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 43% และถือเป็นสัญญาณว่าภาคการผลิตฟื้นตัวได้ชัดเจน

ขณะที่การย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้ายังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท 

"มาตรการเปิดประเทศของรัฐบาลจะช่วยทำให้การเดินทางเข้าประเทศไทยของกลุ่มนักลงทุนสะดวกมากขึ้น จะส่งผลดีต่อการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะในโครงการใหม่ที่ผู้บริหารบริษัทจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาเจรจาธุรกิจและดูที่ตั้งโครงการด้วยตัวเอง"

จูงใจลงทุน“บีซีจี-นิวเอสเคิร์ฟ”

สำหรับทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอจะเน้นสร้างการขยายตัวของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการผลักดันการลงทุนที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเน้นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะกลุ่ม BCG และการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ อากาศยานและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

รวมทั้งจะมีการส่งเสริม Startup ทั้งในกลุ่มดิจิทัลและ Deep Tech การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) ศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเดิมลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้

ส่วนประเทศเป้าหมายยังคงเน้นประเทศผู้ลงทุนหลัก โดยในภูมิภาคเอเชีย คือ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้และอินเดีย ในขณะที่นอกภูมิภาคเอเชีย คือ สหรัฐ ยุโรปและออสเตรเลีย ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในปี 2565 จะเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพให้โลกได้เห็นว่าไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาค และเป็นโอกาสที่จะดึงการลงทุนจากประเทศสมาชิกเอเปคด้วย

นายนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน โดยนอกเหนือจากมาตรการด้านสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนสำหรับการพัฒนาบุคลากรแล้ว บีโอไอกำลังทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเตรียมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม 20,000 คนต่อปี และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อ Re-skill และ Up-skill แรงงาน 

เร่งดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่าน 3 แนวทาง คือ

1.การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน สำหรับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 50,000 คน ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ยุโรป และสหรัฐ

2.มาตรการ Smart Visa เพื่อดึงดูดกลุ่มบุคลากรทักษะสูง รวมทั้งอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักลงทุนและกลุ่มสตาร์ทอัพ ปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุมัติแล้วกว่า 900 คน จำนวนอาจจะดูไม่มาก แต่เป็นกลุ่มคนคุณภาพสูง ครึ่งหนึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล รองลงมาคือ ออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

3.ล่าสุดบีโอไอได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้รับผิดชอบวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa : LTR) ซึ่งจะเสริมกับมาตรการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยจะขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นในกลุ่มที่มาตรการเดิมยังไม่ได้ครอบคลุม เช่น กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศและมีเงินบำนาญสูง (Wealthy Pensioner) และกลุ่มพนักงานบริษัทชั้นนำที่อยากมานั่งทำงานที่ประเทศไทย (Work-from-Thailand Professional) 

ดันไทย “ทาเลนท์ฮับ”

สำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled Professional) ที่อาจคล้ายกับ Smart Visa บีโอไอจะบูรณาการเข้าด้วยกันภายใต้วีซ่าพำนักระยะยาว ซึ่งขณะนี้บีโอไอกำลังเตรียมยกร่างประกาศหลักเกณฑ์ โดยจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)

“มาตรการทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมแรงในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมคนเก่งหรือ Talent Hub ของภูมิภาค ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วย transform ประเทศ และยังช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้นด้วย”

ส่วนอีกกิจกรรมสำคัญในช่วงปลายปีนี้ บีโอไอร่วมกับ NIA, DEPA, ตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานพันธมิตร เตรียมจัดงานมหกรรม 

BCG Startup Investment Day ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2564 ซึ่งจะเป็นงานใหญ่ครั้งแรกที่รวมกลุ่ม Startup ที่มีศักยภาพสูงในสาขา BCG มานำเสนอแผนธุรกิจ พร้อมพบปะกับนักลงทุนชั้นนำ โดยมีทั้ง VC ไทยและต่างประเทศ CVC บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกองทุนต่างๆ เพื่อร่วมกันต่อยอดธุรกิจในอนาคต