"ราคาพลังงาน" พุ่งหนุนค่าไฟแพง "คนไทย" ชะลอใช้จ่าย

"ราคาพลังงาน" พุ่งหนุนค่าไฟแพง "คนไทย" ชะลอใช้จ่าย

ถือเป็นเรื่องปกติที่เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ราคาพลังงานตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นอีกแน่นอน แต่ดูเหมือนว่าราคาพลังงานโลกปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าปกติ

โดยจะเห็นได้ว่า สถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.8% จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน/ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว อีกทั้ง ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลกระทบโดยตรงกับการนำเข้าสินค้าด้วยเช่นกัน

"วัฒนพงษ์ คุโรวาท" ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีการพยากรณ์โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไว้ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564 จะพุ่งสูงขึ้นตามเศรษฐกิจไทยสิ้นปีนี้โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 0.7–1.5%

จากปัจจัยหลัก คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

ดังนั้น จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการผลิตเพื่อการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นการใช้น้ำมัน

โดยปี 2564 การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ คาดว่ามีการใช้เพิ่มขึ้น 3.5% และ 1.8% ตามลำดับ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าเพิ่มขึ้น 11.7%

ในส่วนของการใช้ LPG ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.3% และ 11.5% ตามลำดับ ขณะที่ภาคขนส่งคาดว่ามีการใช้ลดลง24.0% ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้น 3.5% ส่วนการใช้ไฟฟ้า จะมีการใช้ไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยที่ 0.4%

อ่านข่าว : เช็คด่วน "การไฟฟ้า" แนะประชาชนตรวจสอบข้อมูล มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า

ปัจจุบันราคา LPG คาร์โก้ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายจะตรึงราคาก๊าซ LPG ให้ได้ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ดังนั้น คงต้องจับตาดูว่าราคา LPG ตลาดโลกจะเป็นอย่างไร รวมทั้งอาจมีการขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG ประมาณ 2.1–2.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมในกรอบ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อลดผลกระทบผู้บริโภคจากราคา LPG ปรับสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้ขยายกรอบวงเงินบัญชี LPG เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จากกรอบเดิม 1.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีกรอบวงเงินที่สามารถใช้ชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้รวมไม่เกิน 20,000 ล้านบาท โดยจะสามารถใช้ตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เพื่ออุ้มราคาไปถึงเดือนม.ค.2565

เพราะปัจจุบันมีการใช้เงินเพื่อชดเชยราคา LPG ไปแล้วกว่า 17,431 ล้านบาท เหลือเงินเพียง 569 ล้านบาท ซึ่งไม่อาจดูแลราคา LPG ได้จนถึงสิ้นเดือนธ.ค.2564 ตามมติเดิมของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2564 ที่กำหนดให้ตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึง 31 ธ.ค.2564

ถึงแม้ว่ากบน.จะพยายามตรึงราคาน้ำมันและLPG โดยใช้เงินกองทุนฯ ที่เหลืออยู่ต่อไปจนกว่าจะถึงเดือน ม.ค. 2565 แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศน่าจะกลับมาฟื้นตัว และสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง กระทรวงพลังงาน อาจจะเริ่มกลับมาพิจารณาแนวทางปรับขึ้นราคา LPG แบบขั้นบันได ไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม จาก 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปเป็น 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จากการตรึงราคา LPG ตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่แต่เดิมกำหนดจะดำเนินการแค่ระยะสั้น แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดรุนแรงขึ้นจึงตรึงราคามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าช่วยเหลือมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว

ขณะที่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) หรือ PTT โดย "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ยืนยันที่จะช่วยผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง จากการขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อย อาทิ กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 จากที่ได้ช่วยเหลือตั้งแต่เดือนตุลาคม2562 โดยคิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือแล้วกว่า 10 ล้านบาทแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ค่า Ft ที่จะต้องปรับเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย.-ธ.ค.2564 มีปัจจัยมาจากปัญหาช่วงรอยต่อของผู้ประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ในอ่าวไทยที่หมดอายุสัมปทานลง ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่การส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติต่ำกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ สัดส่วนก๊าซจากอ่าวไทยคิดเป็น 75% และก๊าซจากเมียนมาคิดเป็นสัดส่วน 25%

จะเห็นว่า ที่ผ่านมาราคาค่าไฟฟ้าที่มีราคาสูงขึ้นนั้น จะมีปัจจัยมาจากต้นทุนด้วย แต่จะมากเพียงใดจะอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหามาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะหากประชาชนได้รับบิลค่าไฟที่แพงขึ้น จะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง คนในประเทศจะระมัดระวังในเรื่องของค่าใช้จ่ายมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามมาด้วย

จึงจะต้องจับตาต่อไปว่า ต้นปีหน้าราคาน้ำมันโลกจะปรับลดลงหรือไม่ หากราคาปรับลดลง กระทรวงพลังงาน อาจมีการพิจารณาเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จากผู้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ โดยจะต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อประชาชน

ดังนั้น รัฐบาลควรเตรียมมาตรการรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศที่จำนวนประชากรผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลังราว 13.65 ล้านคน และอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ