“สุพัฒนพงษ์” ยันรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 เต็มที่

“สุพัฒนพงษ์” ยันรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 เต็มที่

“สุพัฒนพงษ์” ยืนยันรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 เต็มที่ ตั้งเป้า ปี2565 เดินหน้าหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 150 ล้านโดส เพื่อสำรอง "บูสเตอร์-เพิ่มภูมิ" สร้างความมั่นใจต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีนับเป็นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่จะชนะความท้าทายนี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยสถานการณ์ปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลจะจัดหาวัคซีนให้ได้ราว 180 ล้านโดส ภายในปี 2564 พร้อมเจรจาจัดหายาและเตรียมยาสำหรับผู้มีอาการหนักไว้เพียงพอ ซึ่งตั้งเป้าปี 2565 จะหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 150 ล้านโดส สำหรับเป็นบูสเตอร์และสำรองใช้กรณีต้องฉีดเพิ่มภูมิคุ้มกัน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเต็มที่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีมาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่องและการแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง เมื่อประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมรับมือในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการได้รับวัคซีนครอบคลุมเป็นเกราะป้องกันตัวในระดับหนึ่ง ไม่ประมาท ทุกฝ่ายมีการป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะเกิดความมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

อ่านข่าว : "รัฐบาล"ย้ำเปิดประเทศ เหมาะสม เหตุไทยสำเร็จมากที่สุดในโลก ปกป้องชีวิตคน

ส่วนเรื่องความมั่นคงทางการเงิน Fitch Ratings และ S&P Global Ratings ได้ทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีและมีเสถียรภาพ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพยายามเปิดประเทศให้ได้อย่างเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทั้ง สร้างงาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป

“เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่การพลิกโฉมประเทศไปสู่สังคมในบริบทใหม่ ที่จะสอดคล้องกับลักษณะของประเทศไทยในอนาคตซึ่งจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลขอยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อผลักดันประเทศไทยให้ก้าวผ่านและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้วางรากฐานด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไว้ในทุกด้าน ทั้งโทรคมนาคม คมนาคมและโครงข่ายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศที่จะเอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอื่นที่เราเข้มแข็งอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว ทั้งยังช่วยขยายความเจริญเข้าสู่ภูมิภาคและเชื่อมโยงภูมิภาค นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีการพัฒนาและเตรียมการโดยมีสถาบันนวัตกรรมเกิดขึ้นในไทย