ก.ล.ต. -TBCSD - TEI ผนึกกำลัง 3 ฝ่ายขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

ก.ล.ต. -TBCSD - TEI ผนึกกำลัง 3 ฝ่ายขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

ก.ล.ต. เดินหน้าผนึก TBCSD - TEI ลงนามความร่วมมือ ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยยั่งยืน สร้างระบบนิเวศน์เกื้อหนุนทั้ง การเปิดเผยข้อมูล การพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนสีเขียว และการไปสู่ตลาดการเงินไทยที่ยั่งยืน

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  (TBCSD) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  ทั้ง 3 ฝ่ายได้ตกลงความร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยการส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้ตลาดทุนไทยยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้  โดยกำหนดให้ประเด็นความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเรือธงของแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ(Sustainable Development Goals : SDGs) รวมถึงได้มีการวางกรอบนโยบายในการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem)

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้วางกรอบการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในทุกมติ ผ่าน 3 เสาหลัก  โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับ "การเปิดเผยข้อมูล"  ในแง่ของความโปร่งใส นับว่า เป็นความสำเร็จในก้าวแรกที่จะช่วยยกระดับตลาดทุนไทยไปสู่ความยั่งยืนต่อไป  รวมถึง  ก.ล.ต.ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน เกี่ยวกับ ESG เช่น  กรีนบอนด์ และบอนด์ยั่งยืน  ซึ่ง ประเทศไทย มีพัฒนาการเรื่องนี้อย่างก้าวหน้า โดย ก.ล.ต. ได้พัฒนาหลักเกณฑ์ที่จะเอื้อให้เอกชนระดมทุน ผ่านผลิตภัณฑ์ลงทุนสีเขียว โดยทริสเรทติ้งมาเป็นผู้ประเมินในส่วนนี้

นอกจากนี้ เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมานี้ ในภาคการเงินของประเทศไทย ยังได้มีการ MOU ร่วมกัน  5 ฝ่าย ได้แก่   กระทรวงการคลัง  โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.)  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท.)  และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อ ขับเคลื่อนและยกระดับภาคการเงินไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย 

"นับเป็นโอกาสที่ดีของ ก.ล.ต. ที่ร่วม MOU ทั้ง 3 ฝ่าย ก.ล.ต. พัฒนาตลาดทุนไทยไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง การส่งเสริมความยืนยืนในระดับประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน เราเชื่อว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องทำร่วมกันทั้งหมด ทั้งรับฟังความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรูู้  ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

 

 

 

และท้ายสุดหลังจากจบงานแถลงข่าวในครั้งนี้ ทางองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ได้กำหนดจัดงานสัมมนาประจำปี 2564 (TBCSD Annual Event 2021) : Vision 2050 ขึ้น ในวันพุธที่ 1 ธันวาคม 2564 เวลา 17.00 – 19.30 น. ในรูปแบบ Online โดยภายในงานดังกล่าวจะมีกล่าวถึงบทบาทขององค์กรพันธมิตรในการร่วมสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทยร่วมกับ TBCSD ในลำดับต่อไป

นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กล่าวว่า “ปัจจุบันสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้มีการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ในระดับเชิงนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในบทบาทที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ร่วมดำเนินงานกับองค์กรภาคธุรกิจของประเทศไทยในฐานะทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยได้ร่วมมือกับองค์กรสมาชิก TBCSD และองค์กรพันธมิตรของ TBCSD ร่วมด้วยเครือข่ายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อแสดงจุดยืนของการเป็นผู้นำในภาคธุรกิจไทยด้านความยั่งยืนที่ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของประเทศอันเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของสังคมไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ซึ่งปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศ ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG และการมุ่งไปสู่คาร์บอนสุทธิ(Net Zero Emission) ในอนาคต นับได้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือของ
ทั้ง 3 หน่วยงานระหว่าง TEI และ TBCSD ร่วมกับ ก.ล.ต. เป็นการแสดงถึงการผนึกกำลังความร่วมมือที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
เพื่อร่วมมือกันในการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กรภาคธุรกิจไทย

โดยกว่า 2 ทศวรรษ TBCSD จากก้าวแรกถึงปัจจุบัน ผ่านระยะเวลากว่า 28 ปี องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวนสมาชิกกว่า 40 องค์กร อันครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย

นอกจากองค์กรสมาชิก TBCSD แล้วนั้น TBCSD ยังได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในระดับสากล และระดับประเทศ ซึ่งในระดับสากล TBCSDเป็น Regional Network ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ World Business Council for Sustainable Development หรือ WBCSD ทำให้ TBCSD ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก รวมทั้ง มีองค์ความรู้และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความยั่งยืน  และในระดับประเทศ

TBCSD ยังได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรของ TBCSD จำนวน 4 หน่วยงานหลักของประเทศ ได้แก่ 1) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 4) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจและประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง ช่วยขับเคลื่อนวาระแห่งชาติต่าง ๆ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากบริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการก็จะเป็นตัวอย่างและขับเคลื่อนในเครือข่าย