กสิกรฯ ทำนายค้าปลีกโค้งท้ายปี64 ผงาด หลังคลายล็อกดาวน์โควิด

กสิกรฯ ทำนายค้าปลีกโค้งท้ายปี64 ผงาด หลังคลายล็อกดาวน์โควิด

กสิกรมองบวก หลังรัฐฯคลายล็อกดาวน์โควิด เชื่อหนุนค้าปลีกโค้งท้ายปี64 ผงาด พลิกบวกมาเป็น1.4% จากปีก่อนหดตัว1.2%

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากสถานการณ์โควิดและการเข้าถึงวัคซีนที่เริ่มมีสัญญาณบวก จนทำให้ภาครัฐมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ 

      ซึ่งเป็นจังหวะที่ธุรกิจต่างๆ ก็คงจะมีการออกแคมเปญทำตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย ส่งผลให้คาดว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวที่ 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัว1.2% 

      โดยตัวขับเคลื่อนหลักน่าจะเป็นการใช้จ่ายในช่วงเดือนธันวาคมที่มีเทศกาลปีใหม่ และยังคงเป็นการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว

       • ทั้งนี้ ประมาณการข้างต้น ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติมแล้วในระดับหนึ่ง 

       ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2565 ทิศทางการฟื้นตัวของยอดขายธุรกิจค้าปลีกจะกลับมาแข็งแกร่งได้มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญคงจะขึ้นอยู่กับการจัดการสถานการณ์โควิด และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

      ขณะที่ ความเปราะบางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคท่ามกลางค่าครองชีพที่เร่งตัว รวมถึงการแข่งขันที่เข้มข้น จะยังเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกต่อเนื่อง

           

     • ค้าปลีกไตรมาสสุดท้ายปี 2564 คาดกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ จากสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการระบาดในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิดและการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนที่เริ่มมีสัญญาณบวก จนทำให้ภาครัฐทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นแผนการเปิดประเทศเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว สัญญาณความเป็นไปได้ในการกลับมาเปิดดำเนินกิจการของบางธุรกิจ 

    ทเช่น สถานบันเทิง สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่น่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 มาแล้วเมื่อประกอบกับจังหวะการเร่งออกแคมเปญส่งเสริมการตลาดของภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ส่งผลให้ในเบื้องต้น 

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 น่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวที่ประมาณ 1.4% (คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย 

     เช่น ช้อปดีมีคืน เป็นต้น ในช่วงปลายปีไว้แล้วระดับหนึ่ง แต่หากภาครัฐมีการปรับหรือเพิ่มขนาดของมาตรการ ก็อาจจะทำให้ตัวเลขค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายขยับสูงขึ้นกว่าที่คาด) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนที่หดตัว 1.2%

      ซึ่งการคลายมาตรการล็อกดาวน์น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมที่มีเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญอย่างเทศกาลปีใหม่ 

      ซึ่งคาดว่าบรรยากาศของเทศกาลปีใหม่ในปีนี้น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้วที่เกิดการระบาดคลัสเตอร์สมุทรสาคร

      • ผู้ประกอบการค้าปลีกที่เน้นจำหน่ายสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ส่วนตัว เช่น E-commerce ห้างสรรพสินค้า (โดยเฉพาะในโซนร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อน่าจะทำยอดขายได้ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 

      แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ยังคงกังวลกับความปลอดภัยและเผชิญกับกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ยังคงเลือกใช้จ่ายอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะในหมวดสินค้าที่ยังมีความจำเป็นอย่างอาหารและเครื่องดื่ม

      รวมถึงของใช้ส่วนตัว ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นอย่างเสื้อผ้า รองเท้า น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 

     ส่วนกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้ว่ายอดขายอาจจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยอดขายทั้งปี 2564 น่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน

      ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เน้นจำหน่ายสินค้าจำเป็นไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า (โดยเฉพาะโซนร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ น่าจะทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นหรือกลับมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มห้างสรรพสินค้า (โซนจำหน่ายสินค้าไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือย

      เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า) ร้านค้าเฉพาะอย่าง เช่น ร้านจำหน่ายสินค้าความงาม ร้านวัสดุก่อสร้างและซ่อมแซมตกแต่งบ้าน (แม้ในบางพื้นที่อาจได้แรงหนุนบ้างจากการซ่อมแซมหลังผ่านอุทกภัย) 

      ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ผู้บริโภคยังคงกังวลกับรายได้และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มยังคงต้องให้ความสำคัญกับการเร่งทำโปรโมชั่นการตลาดด้านราคาในช่วงเวลาดังกล่าวที่เริ่มมีการเปิดประเทศภายหลังสถานการณ์โควิดส่งสัญญาณดีขึ้น ควบคู่ไปกับการให้บริการลูกค้าที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอในทุกแพลตฟอร์มเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและสร้างความประทับใจนอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้

      นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่องถึงปี 2565 ธุรกิจค้าปลีกยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอีกหลายประการ ทำให้การดำเนินธุรกิจยังคงยากลำบากต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำท่วมที่ครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัด

      ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสินค้าเกษตรและส่งผลต่อราคาตามมา เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ และการขนส่งที่อาจจะล่าช้า ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบกับค่าครองชีพของผู้บริโภค ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิดในประเทศในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการใช้จ่ายของคนในประเทศ

      รวมถึงภาวะการแข่งขันของธุรกิจที่จำนวนผู้เล่นยังคงทยอยเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ (E-commerce) 

      ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ หรือมีศักยภาพในการใช้จ่ายยังคงมีจำนวนจำกัด หรือแม้แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือเทคโนโลยีในการทำธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนภาพการทำธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน และเกิดผู้เล่นรายใหม่หรือการปรับตัวของผู้เล่นรายเดิม 

      ซึ่งผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวหรือรับมือกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เร็ว ก็น่าจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้น บทสรุปของการเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจค้าปลีกก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกในระยะข้างหน้า