2 โมเดลพัฒนาแรงงาน แบบนอกระบบในอีอีซี

2 โมเดลพัฒนาแรงงาน  แบบนอกระบบในอีอีซี

ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แรงงานเป็นสิ่งที่มีค่ามากพอ ๆ กับนวัตกรรมที่ใช้ในภาคธุรกิจ ปัจจุบันแรงงานมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเภทใด

การพัฒนาฝีมือแรงงานมีความจำเป็นอย่างมาก ต้องมีการ upskill reskill ให้กับแรงงานที่มีอยู่ให้ทันสมัย ทันกับความต้องการทักษะในโลกยุคปัจจุบัน

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การพัฒนาแรงงานของหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปค่อนข้างลำบาก ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม ดูจากชื่อจะเห็นว่าต้องการทักษะค่อนข้างสูง การพัฒนาแรงงานหลักที่เป็น function ของอุตสาหกรรมก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีหลักสูตรที่มีมาตรฐาน อย่างไรก็ดี คิดว่ามีโมเดลการพัฒนาแรงงานที่สามารถทำได้อย่างน้อย 2 โมเดล ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานของโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาคกลาง (กลุ่มเยาวชนที่ประกอบอาชีพแรงงานอุตสาหกรรม) ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสนับสนุนบริษัท วิสดอมแลนด์ จำกัด ให้มาดำเนินการ พื้นที่ดำเนินการของโครงการนี้อยู่ในภาคกลาง แต่คิดว่ามีโมเดลการทำงานที่น่าสนใจและนำมาใช้ใน อีอีซี ได้ เลยอยากนำมาเล่าให้ได้ทราบกัน

กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำงานในสถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม กรณีกล่าวไปข้างต้นเป็นกลุ่มแรงงานในระบบที่มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีการจ้างงานอย่างเป็นระบบ และมีหน่วยงานนายจ้างดูแล การทำงานจึงเป็นหลักแหล่งและมีที่ตั้งของสถานที่ทำงาน การพัฒนาแรงงานกลุ่มนี้จึงค่อนข้างเป็นการดำเนินงานที่มีแบบแผน การพัฒนาในช่วงโควิด-19 ใช้วิธีการส่งความรู้จากภายนอกเข้าไปภายใน ด้วยการให้วิทยากรจัดกิจกรรมบรรยายหรือฝึกปฏิบัติการกับบุคลากรของสถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์ (online workshop) ในหลักสูตรที่สำคัญและสอดคล้องกับความต้องการของทั้งแรงงานและสถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การคิดออกแบบ (design thinking) ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการคิดออกแบบในการแก้ปัญหาและพัฒนางาน การฝึกอบรมบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ทำให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้และประสบการณ์ ในขณะเดียวกันการพัฒนาแรงงานก็ไม่หยุดนิ่ง เงื่อนไขสำคัญคือเลือกหัวข้อที่สามารถอบรมผ่านระบบออนไลน์ได้ วิธีการนี้ อีอีซี สามารถทำได้เลยและคิดว่าน่าจะมีการทำอยู่แล้ว

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเยาวชนวัยแรงงาน ซึ่งไม่ได้ทำงานในสถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม เยาวชนเหล่านี้เป็นแรงงานนอกระบบ รับจ้างทั่วไป กลุ่มนี้หากได้รับการพัฒนาดี ๆ จะเป็นแรงงานสนับสนุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 อุตสาหกรรมได้ และทำให้ประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมสูงขึ้น ดังนั้นกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ อีอีซี ไม่ควรละเลย เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจจะไม่ยั่งยืนหากขาดการมองสังคมอย่างรอบด้าน การพัฒนาแรงงานนอกระบบในช่วงสถานการณ์โควิดต้องยอมรับว่าเป็นไปด้วยความท้าทาย แต่ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย เพียงแค่ต้องการการจัดการที่เหมาะสม อย่างที่กล่าวไปการทำงานลักษณะนี้มีการทำไปแล้ว แนวทางหนึ่งที่ทำได้คือการส่งทักษะตรงถึงแรงงาน (skill delivery) การจัดทำทรัพยากรการฝึกอาชีพต่าง ๆ ส่งตรงถึงมือเยาวชนแรงงาน และมีระบบที่ปรึกษาหรือครูพี่เลี้ยงที่ให้การดูแลในการฝึกอย่างใกล้ชิด เมื่อมีข้อสงสัยหรือติดขัดจะได้ปรึกษาหรือขอคำแนะนำได้ หลักสูตรที่มีความเป็นไปได้ เช่น หลักสูตรเกี่ยวกับช่างฝีมือที่ต้องการวัสดุอุปกรณ์ขนาดเล็ก หลักสูตรการฝึกทักษะอาชีพพื้นฐานต่าง ๆ เคล็ดลับคือการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ จะทำให้เข้าถึงเยาวชนกลุ่มนี้ได้อย่างรวดเร็ว

โมเดลการทำงานนี้อาจไม่ได้ใหม่เสียทีเดียว เพียงเพิ่มเติมบางแง่มุมที่น่าจะเป็นประโยชน์ โดยนำเสนอให้เห็นทางเลือกที่เป็นไปได้ และกระตุ้นเตือนถึงความจำเป็นของการการพัฒนาแรงงานภายใต้ภาวะที่จำกัด เพื่อให้แรงงานยังมีคุณภาพและได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง

บทความโดย  ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์