พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.1 ล้านไร่ น้ำท่วมกระทบ”ข้าว-มัน”มากสุด

พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.1 ล้านไร่ น้ำท่วมกระทบ”ข้าว-มัน”มากสุด

น้ำท่วม 64 เสียหาย 1.5 หมื่นล้านบาท พื้นที่ภาคการเกษตรกรรมอ่วมสุดได้รับผลกระทบกว่า 1.1 ล้านไร่ ความเสียหายกว่า 4,701 ล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวโดนน้ำท่วมเสียหาย 1,833 ล้านบาท ฉุดจีดีพีหาย 0.1-0.2%

สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคเหนือและภาคกลาง รวม 31 จังหวัด เช่น  จังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, เพชรบูรณ์  สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์  ลพบุรี  สระบุรี พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น   ทำให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่    

สมาคมธนาคารไทยได้ประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม  โดยคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายราย 1.5 หมื่นล้านบาท โดยในภาคการเกษตรกรรมจะได้รับความเสียหายรวม 4,701 ล้านบาท หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.1  ล้านไร่ กระทบมากในข้าวนาปีและมันสำปะหลัง  เฉพาะข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 0.6 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,833 ล้านบาท มันสำปะหลังได้รับความเสียหายประมาณ 0.3 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,800 ล้านบาท ส่วนอ้อยได้รับความเสียหายประมาณ 0.2 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,068 ล้านบาท   

นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปด้วย โดยคาดว่าในกรณีฐานผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงจะอยู่ประมาณ 15,372 ล้านบาท  

ทั้งนี้ยังได้สมมติฐานในการประมาณการผลกระทบน้ำท่วม โดยภายในใต้สมมติฐานที่มีพายุลูกใหม่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง น้ำในพื้นที่ท่วมขังลดระดับอย่างต่อเนื่องและคลี่คลายในช่วงกลางเดือนต.ค.64  ผลผลิตข้าวในพื้นที่เสียหายบางส่วน  โดยข้าวที่อยู่Stage ของการเจริญเติบโตหรือข้าวที่ออกรวงและพร้อมเก็บเกี่ยวจะเสียหาย ส่วนข้าวที่เพิ่งหว่านคาดว่าจะสามารถทนน้ำได้ ขณะที่ผลผลิตอ้อยไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากยังไม่ได้เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ส่วนผลผลิตมันสำปะหลังเสียหายบางพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี นครราชสีมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบ  

 

พื้นที่เกษตรเสียหาย 1.1 ล้านไร่ น้ำท่วมกระทบ”ข้าว-มัน”มากสุด

 

 

ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย  ซึ่งได้ทำการสำรวจความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม พบว่า  น้ำท่วมในพื้นที่ 31 จังหวัด ปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 64 - ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค.) ในพื้นที่ 31 จังหวัด 190 อำเภอ 956 ตำบล 6,335 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 227,470 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด  

โดยประเมินความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.1-0.2% ซึ่งความเสียหายแบ่งเป็นพืชเกษตร 6,349.51 ล้านบาท สิ่งสาธารณะ4,972.20 ล้านบาท การค้า 1,316.10 ล้านบาท บ้านเรือน 1,320.30 ล้านบาท ปศุสัตว์ 753.90 ล้านบาท และอื่นๆ 324 ล้านบาท  

น้ำท่วมปี 64 นี้ที่กระจายไปหลายจังหวัด ทำให้หลายเกิดความหวาดผวา และตั้งคำถามว่าน้ำท่วมปี 2564จะหนักหนาเท่ากับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หรือไม่ ซึ่ง “ธนวรรธน์ พลวิชัย”อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการไทยและประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ฟันธงว่า ความรุนแรงของ "น้ำท่วม" ครั้งนี้ ไม่เท่ากับปี 2554  โดยในปีนั้นมีความเสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท เพราะ น้ำท่วม พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่มีโรงงานผลิตสินค้าส่งออกจำนวนมาก กระทบต่อการผลิต และการส่งออก แต่ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร และบ้านเรือน ที่แม้ได้รับผลกระทบมาก แต่มูลค่าความเสียหายไม่มากนัก คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ในเร็วๆนี้

อ่านข่าว : นายกฯสั่งแก้ความเดือดร้อน“น้ำท่วม”-ยันทำทุกมาตรการให้ ปชช.อยู่ดีกินดี

สอดคล้องกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ที่มองว่า  ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้กระทบภาคอุตสาหกรรมมากนัก แต่จะกระทบกับพื้นที่เกษตรจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนวัตถุดิบการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น อาจกระทบกับต้นทุนอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรได้ 

โดยภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่รับผลกระทบหนักสุด ซึ่งแม้ว่าไม่กระทบกับภาคอุสาหกรรม แต่อย่างน้อยก็ส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยปีนี้ ลดลง 0.1-0.2%)  แม้ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่สิ้นสุดทางแต่ทางภาครัฐจะต้องเตรียมแผนการฟื้นฟู มาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมในด้านต่าง ๆและเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จะได้เร่งเข้าไปเยียวยาและฟื้นฟู ภาคเกษตรกรรม เศรษฐกิจในพื้นที่ให้กับมาโดยเร็วที่สุดเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวในระดับปกติได้ในระยะถัดไป