หวั่นโควิดลาม! คนแห่ออกนอกบ้านหลัง ’เปิดเมือง’

ฟังมุมมองทางการแพทย์​ ไทยพร้อมจริงหรือไม่​ เปิดรับต่างชาติเข้าประเทศ​ จาก​ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย

เมื่อวานหลังอ่านแถลงการณ์ค่อนข้างยาวของนรม.เรื่องโควิด โดยกำกับว่าเป็นก้าวเล็กๆ แต่เป็นก้าวที่สําคัญ ระหว่างการเลือกปกป้องชีวิตหรือปกป้องปากท้องประชาชน ที่จริงการปกป้องทั้งสองสิ่งนี้ไม่ควรคิดแยกจากกันโดยเด็ดขาด ต้องประมวลผลให้รอบด้านและกำหนดเป็นนโยบายที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปเสมอ ขอบคุณท่านที่ให้เกียรติรับฟังข้อเสนอแนะจากบุคลากรสาธารณสุขตลอดเวลาปีกว่าที่ผ่านมา หวังว่าเสียงสะท้อนของพวกเราจะถูกนำไปประมวลผลเชิงนโยบายอย่างใส่ใจเช่นนี้ต่อไป 

การจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวความเสี่ยงต่ำ คงไม่ก่อปัญหาอะไรนักเว้นการนำเข้าเชื้อกลายพันธุ์ที่ท่านกังวล ซึ่งน่าจะไม่เหลือวิสัยบุคลากรเราในการตรวจจับและควบคุม 

อ่านข่าว : ศบค. เตรียมเคาะมาตรการชุดใหญ่ รับเปิดประเทศ 14 ต.ค.นี้

แต่สิ่งสำคัญที่จะตามมาอื่นๆ อีกมากมาย คือ จะมีกิจกรรมนอกบ้านของคนในประเทศมากขึ้นๆ โดยเฉพาะกิจกรรมการรวมกลุ่มซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างที่เห็นกันมาในอดีต โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแล ไม่สามารถปฏิบัติในมอบหมายให้ได้ดั่งใจของประชาชน ในโรดแมปที่แสดงมาหลายกระบุงโกยนั้น ไม่ได้ให้หลักประกันที่ชัดเจนกับประชาชนเลยว่า จะทบทวนมาตรการโดยยอมรับสถานการณ์การควบคุมโรคได้ที่ระดับใด เช่น จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและอัตราการใช้เตียงไอซียูโควิด ที่ปัจจุบันแม้จะลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคมมากว่าครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่และเพิ่มเข้ามาใหม่ช้าๆ ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางที่การพยากรณ์โรคไม่ดี และต้องใช้ทรัพยากรสุขภาพในการดูแลมากเป็นพิเศษ หากมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน จนทำให้จำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มจากระดับ 3,000 คนในขณะนี้ ไต่ไปเรื่อยๆ จนแตะที่ 4,000 คน รับรองว่าความโกลาหลหนักจะมาเยือนใหม่แน่ แล้วเราก็จะต้องมานั่งขบคิดเลือกระหว่างปกป้องชีวิตกับปากท้องกันรอบใหม่อีกครั้ง โปรดใส่ใจมัชฌิมาปฏิปทาเพื่อเลือกเดินในทางสายกลาง จักเป็นคุณมากกว่าโทษ  

    กลิ่นสุดท้าย คือเค้าลางความยุ่งยากของสถานการณ์โควิดในภาคใต้ ที่ร้อนระอุจนใกล้ย่างเข้าสู่เหตุวิกฤตเหมือนในกทม.และปริมณฑลเมื่อสองเดือนก่อน โดยมีความยากจากลักษณะเฉพาะในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จนบัดนี้ยังไม่เห็นแผนการแก้ไขที่ชัดเจนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแสดงออกมามากนัก ในยามที่มีแต่กระแสเรื่องการผ่อนคลายควบคู่ไปกับการเตรียมตัวทางการเมืองสู่การเลือกตั้งทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่จะนำร่องมาก่อน อยากเห็นการขับเคลื่อนบูรณาการสรรพกำลังของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนเข้าแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ ทั้งหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานนอกพื้นที่ที่สถานการณ์โควิดเริ่มเบาบาง แม้ส่วนตัวจะไม่ชอบเห็นการรวมอำนาจเข้ามาจากระบบปกติที่มีอยู่เดิม แต่ของที่มีอยู่ค่อนข้างจะง่อยเปลี้ยในการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤต รูปแบบ “ศบค.เฉพาะกิจภาคใต้” อาจเป็นตัวเลือกที่ต้องหันมาพิจารณา