‘ททท.’ จ่อตั้งบริษัทลูกใหม่ พลิกโฉมท่องเที่ยวไทยสู่ ‘ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม’

‘ททท.’ จ่อตั้งบริษัทลูกใหม่ พลิกโฉมท่องเที่ยวไทยสู่ ‘ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม’

การพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่ “ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม” คือโจทย์ใหญ่ของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (ททท.) หลังวิกฤติโควิด-19 เข้ามาล้างไพ่! เปลี่ยนทิศทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ให้มุ่งสู่การทำตลาดที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว

เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และเน้นความร่วมมือเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท.เตรียมจัดตั้ง “บริษัทลูก” แห่งใหม่ เพื่อรองรับกลยุทธ์การพลิกโฉมท่องเที่ยวไทยสู่ “ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม” อย่างเต็มรูปแบบ!! มุ่งสร้างความยืดหยุ่นทางธุรกิจและการเชื่อมต่อที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย สร้าง “โอกาสใหม่” ในการดึงนักท่องเที่ยวยุคหลังโควิด-19

โดยหลักการหรือโมเดลการถือหุ้นในบริษัทลูกดังกล่าว ททท.จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 40% เพื่อรักษาความคล่องตัวในการบริหาร ส่วนอีก 40% จะเป็นบริษัทด้านดิจิทัลในประเทศไทยเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน ขณะที่อีก 20% จะเป็นของพันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น สมาคมท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งจะเปิดกว้างให้สมาคมที่สนใจ สามารถเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทลูกแห่งนี้ด้วย

“ททท.คาดเห็นความชัดเจน สามารถก่อตั้งบริษัทลูกแห่งใหม่นี้ได้ในอีก 6 เดือนนับจากนี้ และคาดว่าน่าจะเริ่มทำรายได้และเห็นกำไรในปีที่ 3 ของการก่อตั้งหรือในปี 2567 ซึ่งสอดรับกับจังหวะการฟื้นตัวของภาพรวมภาคท่องเที่ยวไทยพอดี”

นอกเหนือจากการลงทุนด้านดิจิทัล (Digital Invest) แล้ว ททท.ยังมุ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้ในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Digital Industry) เปลี่ยนวิธีเรียนรู้ การติดต่อสื่อสารและทำธุรกรรม โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันจะร่วมพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยี (Digital Innovation) ซึ่งครอบคลุมถึงการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล อาทิ AR & VR, Blockchain (ความแม่นยำและความปลอดภัย), Recognition (การจดจำข้อมูล) และ Smartphone (ความสะดวกด้านการบริการที่ช่วยให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น ช่วยในการสื่อสารและการได้รับข้อมูลเชิงลึกจากนักท่องเที่ยว)

ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หลังเจอคลื่นโควิด-19 เข้ามาดิสรัปภาคธุรกิจเร็วขึ้น!

ยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกจุดที่ ททท.จะผลักดันคือการต่อยอดการใช้ “สกุลเงินดิจิทัล” หรือ “คริปโตเคอร์เรนซี” ในอนาคต เช่น ให้สามารถนำคริปโตฯซื้อสินค้าและบริการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงมีการออกเหรียญดิจิทัลของ ททท. เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว หลังจากเห็นปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19

“แม้ปัจจุบันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้อนุญาตให้นำคริปโตฯไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการภายในไทย แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นแน่นอน ททท.จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับดีมานด์นี้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ถือคริปโตฯอยู่ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงและเต็มใจจ่าย ตรงกับเป้าหมายที่ ททท.ต้องการดึงให้เข้ามาเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทย”

ทั้งนี้เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ททท.ได้หารือกับ ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยข้อสรุปจากการหารือ ทาง กลต.ไม่ได้ขัดข้องในการให้ ททท.ออกเหรียญ แต่เหรียญที่ออกจะต้องเป็น Utility Token พร้อมใช้” ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแปลงคูปองในลักษณะที่เป็นวอยเชอร์ให้เป็นโทเคนดิจิทัล และเสนอขายในรูปแบบ Utility Token พร้อมใช้ในตลาดแลกต่อลูกค้า เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้สามารถขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ เหมือนกับการขายอี-วอยเชอร์

“พูดง่ายๆ คือเหมือนเอาอี-วอยเชอร์มาทำเป็นโทเคนดิจิทัล และผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถนำเงินที่รับมา ไปหมุนเวียนเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป แต่สิ่งที่ทาง กลต. และ ธปท. ให้ ททท.ยืนยันท่าทีก็คือว่า จะต้องไม่มีการนำเอา Utility Token พร้อมใช้ดังกล่าวมาลิสต์ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแต่อย่างใด หรือไม่สามารถนำไปเทรดซื้อขายได้นั่นเอง โดย ททท.มองว่าแม้จะออก Utility Token พร้อมใช้ที่ไม่สามารถนำไปเทรดได้ แต่ก็สามารถนำไปเป็นส่วนลด หรือเป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจซื้อโทเคนดิจิทัลไปก็ได้”

อย่างไรก็ดี ทาง กลต.ยังระบุด้วยว่า ถึงแม้ ททท.จะไม่สามารถนำ Utility Token พร้อมใช้ ไปลิสต์ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แต่ผู้ซื้อขาย Utility Token พร้อมใช้ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวได้ ผ่านช่องทางผู้ประกอบธุรกิจประเภทนายหน้าและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลได้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 6 ราย และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 1 ราย

“ททท.ได้นำเสนอต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าการรุกทำเรื่องดิจิทัล ทัวริสซึ่ม ให้เกิดผลอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการออกเหรียญดิจิทัล รวมถึงการสร้าง Metaverse ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกันอย่างเป็นเนื้อเดียวของโลก VR และ AR แบบ 3 มิติ จะต้องดำเนินการผ่านบริษัทลูกแห่งใหม่ที่ ททท.เตรียมจัดตั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว และเป็นกำลังสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในอนาคต” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว