คนไทยอ่วมพิษโควิด‘หนี้ท่วม’ ฉุดตลาดเที่ยวไทยปีนี้ซึมหนัก

คนไทยอ่วมพิษโควิด‘หนี้ท่วม’  ฉุดตลาดเที่ยวไทยปีนี้ซึมหนัก

“สทท.” เผยผลสำรวจคนไทยหนี้ท่วม เงินหมดส่อ “อดเที่ยว” พบตัวเลขน่าตกใจกว่า 70% รายได้ลดลงเซ่นวิกฤติโควิด 20% ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้ว ทุบตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศปีนี้ชะลอตัว

นางสาวผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ผลสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2564” ซึ่งจัดทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สำรวจความเห็นคนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,540 คน และผู้ประกอบการ 740 ราย ระหว่างวันที่ 15 ส.ค.-5 ก.ย.2564 ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ และลงพื้นที่ พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในไตรมาส 4 นี้มากอันดับ 1 ที่ 83% คือจำนวนผู้ติดเชื้อหรือความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามด้วย 36% เป็นเรื่องสถานะทางการเงิน อันดับ 3 วันหยุดยาว 33% และโปรโมชั่นต่าง ๆ ส่วนลดด้านค่าเดินทางและที่พักจากภาครัฐหรือสถานประกอบการ 23%

“วิกฤติโควิดกระทบต่อรายได้คนไทย 73% โดย 70% มีรายได้ลดลง มีเพียง 3% เท่านั้นที่ระบุว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น”

เมื่อเจาะกลุ่มคนไทย 70% ที่มีรายได้ลด พบว่าลดลงเฉลี่ยคนละ 40% ของรายได้ที่เคยรับ กว่า 78% มีภาวะหนี้สิน ในจำนวนนี้ 30% มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 40% ของรายได้เดิม 

ทั้งนี้คนไทยที่มีหนี้สินจะต้องจ่ายเฉลี่ย 40% ของรายได้ต่อเดือน หนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อสินค้า 55% รองลงมาเป็นหนี้เพื่อการบริโภคประจำวัน 44% และหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 43%  ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ คนไทย 20% ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้ว อีก 20% ไม่แน่ใจว่าจะชำระได้หรือไม่ นับเป็นเรื่องน่าตกใจ ทำให้การตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวจากนี้เป็นไปได้ยาก และอาจทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศปีนี้ชะลอตัว

สำหรับแผนการเดินทางของประชาชนในไตรมาส 4 พบว่า 36% มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด และ 33% มีแผนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว กว่า 44% ยังไม่ตัดสินใจเดินทาง รอดูสถานการณ์การแพร่ระบาด มาตรการควบคุมโรคว่าเอื้อต่อการท่องเที่ยวหรือไม่ และรอดูมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐและภาคเอกชน

ทั้งนี้ 54% ของคนไทยที่มีแผนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว จะไปจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดที่ใช้เวลาเดินทางไม่นาน 41% มีแผนท่องเที่ยวภายในจังหวัดตัวเอง 32% มีแผนเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดห่างไกลหรือจังหวัดที่ใช้เวลาเดินทางนาน ส่วนภูมิภาคที่คนไทยมีแผนไปท่องเที่ยวมากที่สุด คือ ภาคเหนือ 59% รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ได้รับความนิยมใกล้เคียงกันที่ 39% และ 40% คนไทยที่วางแผนท่องเที่ยวช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2564 มีสัดสวนไม่สูงมากนัก 8% และ 11% ตามลำดับ ส่วนช่วงเวลาที่คนไทยมีแผนเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดคือ เดือน ธ.ค. ประมาณ 28%

ด้านการคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงวันหยุดหรือเทศกาลในไตรมาส 4 ซึ่งมีเทศกาล 5 ช่วงเวลานั้น  สัดส่วนคนไทยที่วางแผนท่องเที่ยวในวันคล้ายวันสวรรคต ร.9 (13 ต.ค.) อยู่ที่ 8% วันปิยมหาราช (หยุดยาว 23-25 ต.ค.) อยู่ที่ 13% วันคล้ายวันพระราชสมภพ ร.9 (หยุดยาว 4-6 ธ.ค.) อยู่ที่ 11% วันรัฐธรรมนูญ (หยุดยาว 10-12 ธ.ค.) อยู่ที่ 14% และวันสิ้นปี (หยุดยาว 31 ธ.ค.64-2 ม.ค.65) อยู่ที่ 37% แต่ยังมีประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจอีกประมาณ 40%

ส่วนผู้ประกอบการคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันว่าวันหยุดเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวยังมีไม่มากนัก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูง คาดว่าประชาชนจะมีความเชื่อมั่นเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นในเดือน ธ.ค. สะท้อนได้จากค่าดัชนีคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลจะค่อย ๆ สูงขึ้นตามลำดับ และสูงที่สุดในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีค่าดัชนี 42 สูงกว่าไตรมาส 3 ในระดับสูงมาก และคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะสูงกว่าช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19