GLORY เทคสตาร์ทอัพไทย ระดมทุน IPO สยายปีกต่างประเทศ

GLORY เทคสตาร์ทอัพไทย ระดมทุน IPO สยายปีกต่างประเทศ

ผลของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มีธุรกิจรูปแบบใหม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังสามารถเติบโตได้ดีในโลกยุคปัจจุบัน และพร้อมเติบโตไปอีกขั้นผ่านการเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เช่นเดียวกับ บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) หรือ GLORY ที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงโค้งท้ายปี 2564

จรัญพัฒณ์ บุญยัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GLORY เป็นเทคสตาร์ทอัพที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์ม และเป็นสื่อกลางในการจัดจำหน่ายวรรณกรรมแปลลิขสิทธิ์ต่างประเทศ การ์ตูน และหนังสือออนไลน์ ผ่านช่องทาง “Kawebook” แพลตฟอร์ม เพื่อรองรับการขยายตัวของวงการหนังสือในตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยมุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

โดยการเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในครั้งนี้ บริษัทเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 70 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 12-15 ต.ค.2564 โดยกำหนดราคาจองซื้อ IPO อยู่ที่ 2.80 บาทต่อหุ้น  และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 25 ต.ค.

ทั้งนี้ ระดับราคาดังกล่าวคำนวณจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรย้อนหลัง (Trailing P/E) ที่ 70 เท่า เทียบกับธุรกิจประเภทเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ซื้อขายอยู่ที่ 82 เท่า จึงถือเป็นระดับราคาที่มีส่วนลดแก่ผู้ลงทุนพอสมควร และเป็นระดับราคาที่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงศักยภาพในการเติบโตของบริษัทในอนาคต

บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจากการระดมทุนราว 189 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ อาทิเช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรม ค่าใช้จ่ายในการแปลภาษา พิสูจน์อักษร และเกลาสำนวน เป็นต้น จำนวน 164 ล้านบาท ส่วนอีก 25 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินลงทุนเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม โดยคาดว่าทั้ง 2 ส่วนจะใช้ในช่วงปี 2564-2566

สำหรับส่วนแรก บริษัทมีแผนซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนและวรรณกรรมต่างประเทศเพิ่มเติม จากปัจจุบันบริษัทมีลิขสิทธิ์ในหมวดดังกล่าวประมาณ 100 เรื่อง โดยคาดว่าจะซื้อเพิ่มอีกราว 70% ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องไปยังปี 2565 ส่วนการลงทุนแพลตฟอร์ม ได้แก่ การเปิดตัวเว็บไซต์ “GNovel.com” เพื่อจับกลุ่มผู้อ่านเพศหญิง จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้กว่า 70% ของบริษัทยังมาจากผู้อ่านเพศชาย โดยคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2565

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มฟังก์ชันนิยายแชท เพื่อจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น จากปัจจุบันฐานผู้อ่านของบริษัทอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18-40 ปี และสุดท้ายคือการขยายการให้บริการออกไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายการให้บริการไปยังฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น เบื้องต้นจะเริ่มจากภาษาอังกฤษก่อน และจะพิจารณาภาษาอื่นๆ ในระยะถัดไป

สำหรับจุดแข็งของบริษัทที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด จรัญพัฒณ์ กล่าวว่า ภายหลังขยายตลาดไปต่างประเทศ จะส่งผลให้บริษัทกลายเป็นเทคสตาร์ทอัพรายแรกของไทยที่ให้บริการในต่างประเทศ โดยลูกค้ามีความมั่นใจในระบบของบริษัท เพราะใช้เซิร์ฟเวอร์ที่น่าเชื่อถือของ Amazon Web Service (AWS) ซึ่งมีความเสถียร รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงมีการจ้างแฮกเกอร์เข้ามาทดสอบระบบของบริษัทเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ บริษัทมีคอนเทนท์เฉพาะ (Unique Content) ที่ลูกค้าชื่นชอบ และมีการทำการตลาดเพื่อนำเสนอ Unique Content ทั้งในและต่างประเทศให้ผู้อ่านได้เห็น รวมถึงมีการเพิ่มสินค้าใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่งบริษัทมีการกำหนดส่วนแบ่งรายได้แก่ผู้เขียนและสำนักพิมพ์ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมประมาณ 71% ดึงดูดให้ผู้ร่วมอุตสาหกรรมเข้ามาดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัท

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานโตในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ (2564-2566) บริษัทคาดว่ารายได้ปี 2564 จะเติบโตมากกว่า 19% ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมา โดยบริษัทไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลในการดำเนินงานทั้งหมด ส่วนปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 20-40% ภายหลังขยายตลาด และปี 2566 รวมถึงปีต่อๆ ไป คาดว่าจะเติบโตปีละ 10-20%

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 42.52 ล้านบาท 73.49 ล้านบาท และ 78.42 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12.44 ล้านบาท 14.05 ล้านบาท และ 13.99 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ยังเติบโตได้ดี โดยมีรายได้อยู่ที่ 45.43 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7.40 ล้านบาท