สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เครื่องมือการตลาดสร้างมูลค่าสินค้าชุมชน

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เครื่องมือการตลาดสร้างมูลค่าสินค้าชุมชน

พาณิชย์ผลักดันสินค้า GI ครบ 77 จังหวัด เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก วางเป้าผลักดันสินค้า GI ปี 65 เพิ่มอีก 18 รายการ

1 ใน 14 นโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คือการผลักดันสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 64 โดยต้องการยกระดับเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยระบบความคุ้มครอง GI ถือเป็นอีกกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนผ่านเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้า

 หลายคนคงสงสัยว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indication)หรือจีไอ คืออะไร   ซึ่งข้อมูลจากวิกิพีเดีย ขยายความว่า  “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical in dication)หรือจีไอ” เป็นชื่อหรือสัญลักษณ์เฉพาะที่ใช้บนผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่อิงไปถึงตำแหน่งหรือจุดเริ่มต้นทางภูมิศาสตร์ เช่นเมือง ภูมิภาค หรือประเทศ  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อาจจะใช้เป็นมาตราวัดคุณภาพของสิ่งบางสิ่ง หรือมีชื่อเสียงในทางใดทางหนึ่ง โดยมีผลมาจากจุดกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสิ่งนั้น โดยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า รวมถึงสิทธิบัตร 

ประเทศไทย โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยให้แก่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน 

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เครื่องมือการตลาดสร้างมูลค่าสินค้าชุมชน

ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เร่งรัดขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)ได้ครบตามนโยบายของนายจุรินทร์ ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียน GI ครบแล้วทั้ง 77 จังหวัด  รวม 152 รายการ สร้างมูลค่าทางการตลาดสูงกว่า 36,000 ล้านบาทและในปี 2565 กรมทรัพย์สินทางปัญญาวางเป้าหมายผลักดันสินค้า GI  อีก  18 รายการ อาทิ ครกหินแกรนิต จ.ตาก    เผือกหอมบ้านหมอ จ.สระบุรี  ส้มโอปราจีนจ.ปราจีนบุรี  มะม่วงน้ำดอกไม้ จ.สมุทรปราการ ผ้าตีนจกโหล่งลี้ จ. ลำพูน  ผ้าไหมปักธงชัย จ.นครราชสีมา  ผ้าไหมสาเกต จ. ร้อยเอ็ด  มันแกวบรบือ จ มหาสารคาม   พุทรานมบ้านโพน จ.กาฬสินธุ์  ปลากระพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา เป็นต้น

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  กล่าวว่า  กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมขานรับนโยบายกระทรวงพาณิชย์ โดยหลังจากสินค้าได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว กรมฯ ยังเดินหน้าผลักดันให้มีการจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้า GI เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า ตลอดจนส่งเสริมประชาสัมพันธ์และให้ความสำคัญกับการตลาดยุคใหม่ที่เน้นช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สินค้า GI ไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง สร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ล่าสุดเมื่อ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ได้มอบประกาศการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้า “ทุเรียนจันท์” ของจังหวัดจันทบุรี เป็นสินค้า GI ล่าสุดของไทย

สำหรับสินค้า  GI อาทิ เงาะทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี  กลองเอกราช จ.อ่างทอง ข้าวหอมมะลิ จ.สุรินทร์  ทุเรียนนท์ จ.นนทบุรี หมูย่างเมืองตรัง จ.ตรัง ส้มโอนครชัยศรี จ.นครปฐม  ผ้าไหมแพรวา จ.กาฬสินธุ์ กาแฟดอยตุง จ.เชียงราย ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง จ.พัทลุง เป็นต้น

ทั้งนี้ประโยชน์จากการได้รับเมื่อขึ้นทะเบียนสินค้าชุมชนเป็นสินค้าจีไอ คือ คุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิ์เฉพาะของชุมชนที่ขึ้นทะเบียน  เพิ่มมูลค่าของสินค้าและเป็นเครื่องมือการตลาด ดูแลมาตรฐานของสินค้าและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้กับแก่ชุมชน เพิ่มความสามัคคีเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนผู้ผลิตอย่างยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของตัวสินค้าให้กับผู้ซื้อ

 ดังนั้นการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ผู้ประกอบการควรตระหนักและใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพราะสินค้าชุมชนหรือท้องถิ่นเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้วก็จะดันมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้นการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ยังเป็นการช่วยเปิด ตลาดสินค้านั้น ๆ และป้องกันการสวมสิทธิ์จากผู้ค้ารายอื่น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศในยุคของการโลกการค้าที่มีการแข่งขันสูงเช่นปัจจุบัน