โควิด”Set New Baseline”เศรษฐกิจและสังคม

โควิด”Set New Baseline”เศรษฐกิจและสังคม

เปิดมุมมอง”ฉัตรชัย ศิริไล”กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมแบงก์รัฐ ต่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเขามองว่า โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เข้ามา “Set New Baseline” เศรษฐกิจและสังคม

โควิด”รีเซ็ท”สังคมและเศรษฐกิจ

ฉัตรชัยมองว่า โควิด คือ โรคอุบัติใหม่ ทำให้เกิดการรีเซ็ตระบบเศรษฐกิจและสังคมทุกประเทศทั่วโลก ฉะนั้น องค์ความรู้บริหารความเสี่ยงเดิมต้องฉีกทิ้ง ไม่สามารถนำมารับมือกับโควิดได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน โควิด คือ ธรรมชาติ ดังนั้น มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ สิ่งที่ทุกคนต้องทำ คือ ต้องอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้

นอกจากนี้ โควิดยังทำให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว จะกลายเป็น”สังคมสันโดษ” คือว่า อะไรก็ตามที่อยู่รวมกัน ธรรมชาติไม่ให้อยู่รวมกันแล้ว เพราะคุณจะติดเชื้อ ดังนั้น วิถีสังคม คือ คนจะเจอกันน้อยลง

วิกฤตโควิดครั้งนี้ ต่างจากวิกฤตที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 โดยในปี 2540 เป็นวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้ เป็นวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคน ซึ่งมันเข้ามากระทบที่เศรษฐกิจ ดังนั้น รูปแบบการจัดการจะไม่เหมือนเดิมเลย

แก้หนี้ก่อนกระทบภาคการเงิน

ถามว่า วิกฤตโควิดครั้งนี้ จะลามไปถึงภาคถาบันการเงินหรือไม่ เขามองว่า สถาบันการเงินจะมีปัญหาเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ คนแห่ถอนเงิน กับ หนี้เสียสูงมาก ซึ่งในแง่คนถอนเงินนั้น ขณะนี้ ยังไม่เกิด ส่วนปัญหาหนี้เสียนั้น เกิดจากคนไม่มีรายได้มาชำระหนี้ จากนี้ไปก็อยู่ที่สถาบันการเงินจะมีวิธีบริหารความเสี่ยงอย่างไร ส่วนตัวมองหลักคิดวิธีการจัดการปัญหา คือ ลูกค้าอยู่ได้ แบงก์ก็อยู่ได้

“มาตรการที่ออกมาช่วยเหลือลูกค้าต้องคิดใหม่แล้ว ตอนนี้ เอาแค่เงินต้นคืนให้ได้ก็พอแล้ว แบงก์รัฐปรับตัวแบบนี้แล้ว ถามว่า แบงก์พาณิชย์เขาคิดอย่างนี้หรือเปล่า ไม่รู้ เพราะแบงก์พาณิชย์เอกชนเป็นเจ้าของ แต่แบงก์รัฐ รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งนโยบายรัฐ คือ ลูกค้าอยู่รอด แบงก์อยู่รอด”

แบงก์เปิดตำราใหม่แก้หนี้เสีย

สิ่งที่แบงก์ทำ คือ ไม่พลิกตำราเลย แต่จะเขียนความอยู่รอดใหม่ขึ้นเลย ต้องเข้าใจว่า ลูกค้าเดือดร้อนอะไร ต้องการอะไร เราจึงกระจายการแก้ไขปัญหาของลูกค้าเป็นหลายกลุ่ม เพื่อให้แบงก์มีเวลาดูแลลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ให้น้ำไหลมาพร้อมกัน

แบงก์รัฐต้องปรับตัวรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่มีจำนวนมาก ต้องแยก content กับ channel  ซึ่งแบงก์รัฐจะเสียเปรียบแบงก์พาณิชย์ในเชิงต้นทุนในการให้บริการ เพราะมีฐานลูกค้ากลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ดังนั้น แบงก์รัฐต้องมีประสิทธิภาพในการ take care วอรุ่มที่มันเยอะมากผ่าน digital channel

เขายังเห็นว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีต้องเปลี่ยนจุดเน้น เมื่อก่อนจะเน้นไปที่ความเสถียรที่ไม่ได้รองรับวอรุ่ม แต่ตอนนี้ ต้องรองรับวอรุ่ม ยกตัวอย่างเช่น การลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้ามาครั้งละ 14-15 ล้านรายการ ซึ่งนั่นเกิดกับแบงก์กรุงไทย แต่สิ่งเหล่านี้ จะเกิดเป็นเรื่องปกติของแบงก์รัฐทุกแห่ง เพราะคุณจะต้องใช้ channel ของ digital ในการให้บริการพื้นฐานแก่ลูกค้าให้ได้

เร่งปรับตัวรับ”สังคมสันโดษ”

เมื่อโควิดทำให้สังคมกลายเป็นสังคมสันโดษมากขึ้น ทั้งภาครัฐและธุรกิจ ต้องเร่งปรับตัวรองรับกับวิถีใหม่ ในมุมของภาครัฐนั้น เขาเห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจจะต้องเติบโตภายใต้วิถีใหม่ การยึดแนวนโยบายเดิมในการบริหารเศรษฐกิจคงไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีนัก

ยกตัวอย่าง ภาคการท่องเที่ยวนั้น ที่ผ่านมา เราพึ่งพานักท่องเที่ยวปีละ 50 ล้านคน แต่โควิด จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือน้อยลง เช่น อาจจะเหลือประมาณ 20 ล้านคน ดังนั้น ภาครัฐจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยว 20 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายเท่ากับจำนวนนักท่องเที่ยว 50 ล้านคน

ในมุมของภาคธุรกิจนั้น ต้องเร่งเพิ่มคุณภาพทักษะของแรงงาน ธุรกิจจะขายแต่แรงงานหรือวอรุ่มไม่ได้อีกแล้ว เพราะวอรุ่มกับแรงงานหายไป เนื่องจาก social distancing โดยธรรมชาติโควิดไม่ต้องการให้คนอยู่รวมกัน ดังนั้น segment ที่จะอาศัยวอรุ่มไม่เกิด ต้องวิ่งหาคุณภาพเท่านั้น

ธุรกิจและสังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้น

เมื่อโควิดจะทำการคัดกรองธุรกิจและสังคมที่มีคุณภาพมากขึ้น ช่องว่างก็จะเกิดขึ้นมาก ใครสามารถหาช่องทางธุรกิจให้อยู่ได้ภายใต้โควิด ก็จะโตไปเลย ใครที่หาไม่เจอก็จะล้มหายตายจาก ยกตัวอย่าง ไรเดอร์ที่ขับรถส่งสินค้ามีรายได้มากในช่วงนี้ แต่ถ้าไม่พัฒนาทักษะ ในอนาคตไรเดอร์ก็จะมีรายได้เท่าเดิม ฉะนั้น อาชีพที่ใช้แรงงาน จะเริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว

ดังนั้น จากนี้ ไป บทบาทของภาครัฐที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มฐานใหญ่ประเทศยกระดับพัฒนาอาชีพ และทำให้ธุรกิจต่อเนื่องมีคุณภาพได้ จากนี้ไปคนที่จะมีบทบาทมากๆ คือ เอสเอ็มอี แต่จะต้องเป็นเอสเอ็มอีที่มีสินค้าที่มีดีไซน์

รัฐต้องทำให้คนอยู่ร่วมกับโควิด

ด้านมุมมองต่อนโยบายรัฐในการแก้ไขปัญหาโควิด เขามองว่า รัฐต้องทำให้คนอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ แต่อย่าเอาชนะโควิดนะ เพราะคุณไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ และมาตรการที่ออกมาต้องไม่ให้คนจมน้ำ แต่ต้องให้คนลอยคอได้ และใช้เวลาให้คนลอยคอเอาคนขึ้นฝั่ง แต่ไม่ใช่ว่า ทุกคนจะขึ้นฝั่งพร้อมกันหมดเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นวอรุ่ม

“เรามองว่า สิ่งที่หลายที่กำลังทำ มันเหมือนกับเราพยายามชนะโควิด แต่ความเห็นเรา คือ เราต้องอยู่กับโควิด คือ ถ้าป่วยก็รักษา ระบบสาธารณสุขไม่ล่ม แต่ไม่ใช่จะเอาชนะ คือ ไม่ติดเชื้อเลย เป็นไปไม่ได้”

“ฉีกตำราเล่มเก่า”บทเรียนจากโควิด

ฉัตรชัยมองว่า บทเรียนใหญ่มาก จากโควิด คือ ตำราเดิมทั้งหมด ฉีกทิ้งได้เลย เพราะโควิด คือ โลกอุบัติใหม่ ตำราทั้งหมดเขียนภายใต้แพทเทิร์นซ้ำๆกันมา แต่โควิดเกิดใหม่ ดังนั้น องค์ความรู้เดิมทั้งหมด ไม่สามารถใช้รับมือกับโควิดได้

“อย่างสมัยก่อนบอกว่า น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ก็ใช่ แต่ทุกวันนี้ เกิดภาวะไร้แรงโน้มถ่วงขึ้นในโลก ถามว่า น้ำจะไหลเหมือนเดิมไหม ไม่ใช่ และ อีกอย่าง แสนยานุภาพของการสื่อสาร ตอนนี้ ทุกคนเหมือนมีสถานีการสื่อสารในมือตัวเอง คือ มือถือ ดังนั้น บนโลกโซเชียลไม่รู้อะไรจริงอะไรปลอม นั่นคือ หนึ่งในปัญหาของการสื่อสาร”

ท้ายที่สุด ฉัตรชัยกล่าวว่า เมื่อไวรัสยังไม่หมดไป เงินที่ทุ่มไปกับไวรัสพันธุ์เดิม ถือว่า สูญเปล่าใช่หรือไม่ เพราะเกิดไวรัสตัวใหม่ ดังนั้น คนอย่าใช้ทรัพยากรเอาชนะธรรมชาติ แต่ต้องใช้ทรัพยากรเพื่ออยู่กับธรรมชาติ

/////////////////