ชุมชนตรังเข็นข้าวหลาม ’หมูย่าง-ปลากะพง’ สู้โควิด

หมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดตรัง ยกระดับสินค้าชุมชน นำหมูย่างสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดและปลากะพงมาพัฒนาต่อยอดข้าวหลาม กระตุ้นยอดขาย

ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตการทำข้าวหลามบ้านบนควน  อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งปัจจุบันยกระดับเป็นหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ‘หมู่บ้านข้าวหลาม’ สินค้าขึ้นชื่อของชุมชนที่สืบทอดกันมาไม่ต่ำกว่า 150 ปี โดยพัฒนาไส้ต่างๆ กว่า 10 ชนิด ล่าสุดได้นำสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด คือ หมูย่าง มาพัฒนาเป็นไส้ข้าวหลาม รวมทั้งไส้ปลากะพงสดจากทะเลตรัง เพื่อต่อยอดกระตุ้นยอดขายให้สินค้าชุมชน และเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค

ประธานกลุ่มหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ‘หมู่บ้านข้าวหลาม’ จินดา แสงมี บอกว่า ข้าวหลามของหมู่บ้านได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดตรัง ปัจจุบันยังทำกันเป็นอาชีพประมาณ 10 ครัวเรือน จุดเด่นคือรสชาติอร่อย นุ่ม หอม หวาน มัน เค็ม และกลิ่นหอมของไม้ไผ่ที่เอามาเผาไฟ ทำให้ข้าวหลามของที่นี่ขึ้นชื่อว่าอร่อยมาก และยังส่งขายในจังหวัดใกล้เคียง เช่น พัทลุง กระบี่  หาดใหญ่ และนครศรีธรรมราช 

ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ผู้ค้าข้าวหลามแต่ละคนจะขายได้วันละ 5 กิโลกรัมเป็นอย่างต่ำ แต่ปัจจุบันขายรวมกันได้ไม่ถึง 10 กิโลกรัม บางครั้งก็ขาดทุน เพราะไม้ไผ่ก็ต้องซื้อในราคากระบอกละ 4 บาท แต่ต้องทำเพราะเป็นอาชีพ จึงพยายามพัฒนาไส้ชนิดต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย 

ข้าวหลามที่หมู่บ้านทำขายมีทั้งหมด 12 ไส้ โดย ไส้ที่มีลูกค้าซื้อมากที่สุด คือไส้บ๊ะจ่าง ไส้ปลากะพง ไส้อัญชันมะพร้าวอ่อนส่วนไส้หมูย่างจะทำเฉพาะที่มีออเดอร์เท่านั้น

ส่วนราคาขายขึ้นอยู่กับขนาดของกระบอกไม้ไผ่ เช่น กระบอกละ 30-35 บาท หรือ 3 กระบอก 100 บาท ถ้าขนาดใหญ่ขึ้น ราคาจะอยู่ที่ 40-70 บาท