เปิดมุมมอง “เศรษฐพุฒิ”ผู้ว่าฯธปท. ชี้ศก.หลังโควิด เผชิญ 3ปัจจัยฉุด

เปิดมุมมอง “เศรษฐพุฒิ”ผู้ว่าฯธปท. ชี้ศก.หลังโควิด เผชิญ 3ปัจจัยฉุด

มองเศรษฐกิจ ผ่านมุมมอง “เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าฯธปท. ภายใต้วิกฤติโควิด-19 พร้อมฉายภาพเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า ต้องเผชิญปัจจัยฉุดรั้ง 3 ปัจจัย ฉุดเศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเดิม หนี้สูง ว่างงานระยะยาวจ่อพุ่ง ธุรกิจฟื้นตัวไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำจ่อเพิ่ม

เปิดมุมมอง “เศรษฐพุฒิ”ผู้ว่าฯธปท. ชี้ศก.หลังโควิด เผชิญ 3ปัจจัยฉุด       เกือบ 2 ปี ที่เศรษฐกิจไทย เผชิญกับวิกฤติ จาก “ไวรัสโคโรน่า สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19” และจากวิกฤตินี้ได้สร้างแผลเป็นที่ลึก และแรงกว่าทุกวิกฤติที่ผ่านมา กระทบไปทั่วทุกภาคส่วน ทั่วโลก ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
     วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ถึงมุมมองเศรษฐกิจไทย รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในระยะข้างหน้า ในมุมมองของ ผู้ว่าฯธปท. ในโอกาสที่  นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ก้าวสู่ปีที่ 35 แบบคำต่อคำ 
    
หากโควิด -19 ยังอยู่กับเรา ในอีก 1-2ปีข้างหน้า ธปท.มองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างไร? 
      : เศรษฐกิจไทยเผชิญกับการระบาดของโควิดมาหลายระลอก ระลอกปัจจุบันถือว่าหนักที่สุด แต่ด้วยพัฒนาการวัคซีนที่เริ่มชัดเจน ทั้งจำนวนที่มีมากขึ้นและการกระจายวัคซีนที่ทำได้ดี
      เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จึงน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ และจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง 
       โดย GDP ปี 2565 คาดว่าจะเติบโตได้ใกล้กับภาวะปกติที่ราว 4% ใน 1-2 ปีข้างหน้า หากพัฒนาการของวัคซีนและศักยภาพด้านสาธารณสุขยังมีต่อเนื่อง ประชาชนจะสามารถอยู่กับโควิดได้ดีขึ้น และเมื่อความกังวลของประชาชนลดลง การใช้จ่ายในประเทศก็จะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับภาคส่งออกได้ 
 

เปิดมุมมอง “เศรษฐพุฒิ”ผู้ว่าฯธปท. ชี้ศก.หลังโควิด เผชิญ 3ปัจจัยฉุด        แต่ภาคท่องเที่ยวของไทยคงไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เร็ว จากการเปิดประเทศที่ยังทำได้ไม่เต็มที่ ประเทศต้นทางหลายประเทศ ยังจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศ 

     เช่น จีน ที่มีสัดส่วนเกือบ 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่มาไทย ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 ที่เรามองไว้ที่ 6 ล้านคน น้อยมากเทียบกับก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน ทำให้ใน 1-2 ปีข้างหน้า เราจะยังเห็นภาพการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน (K-shaped)

     โดยภาคส่งออกฟื้นตัวและกลับมาอยู่ที่ 11% เหนือระดับก่อนโควิดแล้ว โดยมูลค่าส่งออกทั้งปี 2564 คาดว่าจะโตได้ถึง 14% แต่ภาคบริการโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะฟื้นช้ากว่ามาก

.     ซึ่ง 52% ของผู้มีงานทำอยู่ในภาคบริการ และมีเพียง 8% อยู่ในภาคส่งออก ส่งผลให้แรงงานส่วนใหญ่ยังเดือดร้อนและรายได้กลับมาช้า
 

มองเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 เป็นอย่างไร?
    : ในระยะข้างหน้า แม้เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด แต่หลายอย่างจะไม่เหมือนเดิม      
       ประการแรก การฟื้นตัวแบบ K-shaped ทำให้ธุรกิจบางกลุ่มฟื้นไม่ดีเท่าภาพรวม และอาจไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่บริบทเศรษฐกิจหลังโควิดได้
     สอง ผู้ว่างงานระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บางส่วนอาจเสียทักษะและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ digitalization หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อกลับเข้าตลาดแรงงานหลังโควิดได้

     สาม ทุกวิกฤตมักจะกรองคนเก่งหรือคนที่มีประสิทธิภาพในการปรับตัวออกจากคนที่ปรับตัวไม่ได้ คนที่รอด คือ คนที่หาโอกาสในวิกฤต ประเด็นนี้จะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
 

เปิดมุมมอง “เศรษฐพุฒิ”ผู้ว่าฯธปท. ชี้ศก.หลังโควิด เผชิญ 3ปัจจัยฉุด หากเศรษฐกิจไม่กลับมาฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ในต้นปี 2566 เหมือนก่อนเกิดโควิด มองเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร? 
      : หากเศรษฐกิจซึมนาน แผลเป็นจะยิ่งลึก อย่างแรก ผลกระทบต่อตลาดแรงงานจะยิ่งน่ากังวล เพราะโควิดสร้างหลุมรายได้ที่ใหญ่และลึกให้กับระบบเศรษฐกิจไทย เดิมเรามองว่ารายได้แรงงานในปี 2563 – 2565 จะหายไปถึง 2.6 ล้านล้านบาท 
      แต่หากการฟื้นตัวลากยาว หลุมรายได้จะใหญ่ขึ้น สอง ฐานะการเงินของธุรกิจและครัวเรือนจะแย่ลง ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและทำให้การปรับตัวสู่โลกหลังโควิดยากขึ้น และสาม เลี่ยงไม่ได้ที่ภาครัฐจะต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการลดหลุมรายได้และลดภาระหนี้ ทำให้เสียโอกาสเอาทรัพยากรส่วนนี้ไปใช้ยกระดับศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว
       ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาด จะลุกลามกัดกร่อนความเข้มแข็งของสถาบันการเงินหรือไม่ 
      วิกฤตครั้งนี้ สถาบันการเงินเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ ทำให้ได้รับผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าจะผ่านไปได้และไม่เป็นปัญหากับเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ 
     1) ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็งเป็นทุนเดิม วิกฤตปี 40 ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวัง มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี และสะสมทั้งเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องมาอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ก่อนโควิด  
      2) ธปท. ได้ใช้หลักเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นในภาวะเศรษฐกิจที่เสี่ยงสูง และช่วยดูแลไม่ให้ลูกหนี้เป็น NPL พร้อมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินจัดสรรทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น และยังมีฐานะมั่นคง เพราะถ้าเจ้าหนี้ไม่รอด ลูกหนี้ก็จะยิ่งลำบาก ซ้ำอาจจะลามถึงผู้ฝากเงินและเศรษฐกิจในภาพรวม
     “ที่ผ่านมา เราจึงให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพสถาบันการเงิน เห็นได้จากการกำหนดเงื่อนไขจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ การทดสอบความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินในการรองรับวิกฤต (stress test) รวมถึงติดตามใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสถาบันการเงินดำเนินงานได้ราบรื่นภายใต้ภาวะวิกฤต และพร้อมสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”
       แนวทางหรือมาตรการอะไร ที่จะเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ หรือทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้สู่ระดับปกติ 
     วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตสาธารณสุข มาตรการที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด จึงควรเป็นมาตรการด้านสาธารณสุข
      ซึ่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอจะเป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้การระบาดหยุดลงหรือทำให้เราอยู่กับโควิด 19 ได้ เพราะหากประชาชนยังใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไปไหนมาไหนหรือทำอะไรไม่สะดวกเหมือนเดิม และยังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้เต็มที่ จะยากมากที่เศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับปกติ
      สำหรับมาตรการการเงินการคลังถือเป็นมาตรการเสริม ทำได้เพียงซื้อเวลา แต่ใช่ว่าไม่สำคัญ สำคัญและจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ และให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไปต่อได้ ที่ผ่านมา หากไม่มีมาตรการเงินโอนช่วยเหลือจากภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 จากที่หดตัว 1% อาจหดตัวสูงขึ้นเป็น 6%
      ขณะที่นโยบายการเงินและมาตรการทางการเงินจะช่วยพยุงฐานะการเงิน เช่น การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ ขณะที่มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ และการปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยพยุงฐานะทางการเงินไม่ให้ภาระการจ่ายหนี้สูงจนเกินไปและทำให้ลูกหนี้ทยอยบริหารจัดการหนี้ได้ในระยะยาว 
 
ผู้กำหนดยโยบายดังกล่าว ควรมาจากฝั่งไหน การเงิน หรือการคลัง หรือส่วนไหน และควรมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหรือไม่ 
    : นโยบายต้องมาจากทุกด้าน ทุกภาคส่วนต้องมีบทบาท เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วที่สุด ตามที่กล่าวไปแล้วคือ

      ภาวะการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการการเงินต้องช่วยกระจายสภาพคล่องไปตรงจุดที่มีปัญหา และช่วยลดภาระหนี้ในช่วงยากลำบากให้ลูกหนี้ 
       ขณะที่มาตรการคลังต้องเร่งเยียวยา พยุงรายได้และเศรษฐกิจให้เพียงพอและทันการณ์ ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการก่อหนี้ของประชาชนด้วย และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ มาตรการสาธารณสุข ทั้งการเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
       รวมถึงการตรวจหาเชื้อและมาตรการควบคุมการระบาดที่เหมาะสมเพื่อลดอัตราการตาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความกังวลให้กับประชาชน ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้
       ถามว่าควรมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหรือไม่ คำตอบ คือ “ต้องทำ” ด้วยหลุมรายได้ของแรงงานที่คาดว่าจะหายไปถึง 2.6 ล้านล้านบาท จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง
       มาตรการทางการเงินก็ต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้ให้ตรงจุดและเสริมสภาพคล่อง เพื่อลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว 
      นโยบายการเงิน มีบทบาทอย่างไร ในการช่วยดูแลเศรษฐกิจ ในช่วงที่กำลังต้องการฟื้นตัว 
     : นโยบายการเงินมีบทบาทช่วยให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง และไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ณ 0.5% ช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาด อย่างเช่น m-rates ลดลงประมาณ 0.5-0.7% เทียบกับก่อนโควิด

.     ซึ่งช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมและภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชนได้
       แต่ปัญหาสำคัญในการดูแลวิกฤตครั้งนี้ คือ การกระจายสภาพคล่องในระบบการเงินที่มีอยู่สูงไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ SMEs ที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ 
      โดยเฉพาะในช่วงความเสี่ยงสูงเช่นนี้ การแก้ปัญหานี้ด้วยมาตรการการเงินจึงจะช่วยได้ตรงจุดกว่า เช่น พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูฯ ที่ใช้การค้ำประกันผ่าน บสย. เป็นกลไกช่วยลดความเสี่ยงของลูกหนี้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อให้ SMEs มากขึ้น โดยล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2564 สินเชื่อ SMEs ขยายตัวได้ 1% ซึ่งหากไม่มีผลของมาตรการดังกล่าว สินเชื่อ SMEs จะหดตัว 1%
 

แนวโน้มนโยบายการเงินควรเป็นอย่างไรในภาวะปัจจุบัน และควรเป็นอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว 
     : นโยบายการเงินยังต้องผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินมาตรการทางการเงิน
       โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ที่จะช่วยเสริมภูมิต้านทานให้กับธุรกิจและครัวเรือน มิเช่นนั้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีความจำเป็นน้อยลง โครงสร้างที่เปราะบางเหล่านี้อาจทำให้การปรับทิศทางของนโยบายการเงินในระยะต่อไปมีความท้าทาย เศรษฐกิจอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากหลายทาง ภายใต้การฟื้นตัวแบบ K-shape ที่รุนแรงขึ้น 
      การปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบาย จะขึ้นอยู่กับ 3 เป้าหมายที่ต้องพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงิน

      ได้แก่ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจยังแตกต่างกันระหว่างภาคเศรษฐกิจ เสถียรภาพราคา และ ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินที่อาจสะสมมากขึ้นหากอัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน     
       ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 3 ด้านยังเหมาะกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวที่ยังอ่อนแอ แต่หากสมดุลความเสี่ยงเปลี่ยนไป เช่น เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน และเริ่มเห็นสัญญาณร้อนแรงในระบบการเงิน ก็สามารถปรับเครื่องมือที่ใช้อยู่ได้ รวมถึงการใช้เครื่องมือนโยบายอื่น ๆ ที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็นด้วย 
   
 มาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน จะช่วยลูกหนี้ในภาวะวิกฤติได้มากน้อยแค่ไหน
      : จากการหารือกับทั้งกลุ่มลูกหนี้และเจ้าหนี้ เห็นตรงกันว่ามาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 ก.ย. 64) จะช่วยตอบโจทย์สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ยังมี  “ความไม่แน่นอนสูงและยืดเยื้อ” ได้มากกว่าการพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้น เพราะจะช่วยได้ตรงจุดและมีแนวทางที่เหมาะกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย 
       โดยให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากในช่วงนี้ และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา ทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องกังวล มีเวลาไปทำธุรกิจและสามารถวางแผนอนาคตที่ยาวขึ้นได้
      ในขณะที่สถาบันการเงินเองที่ต้องดูแลลูกหนี้จำนวนมาก ก็ไม่ต้องกลับมาพิจารณาเคสที่ทำไว้สั้น ๆ อีก
       ทั้งจะสามารถให้ความช่วยเหลืออื่นแก่ลูกหนี้เพิ่มเติม เช่น ลดดอกเบี้ยค้างรับ หรือลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

.     ซึ่ง ธปท. จะสนับสนุนด้วยการผ่อนปรนเกณฑ์กำกับดูแลให้ และจะติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และรวดเร็ว

หากมาตรการเหล่านี้ไม่ได้ผล จะมีมาตรการอะไรที่ต้องทำเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่
      : ธปท. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการ enforce ให้มาตรการมีผลในทางปฏิบัติ สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมา มาตรการถูกออกแบบให้รองรับลูกหนี้ที่หลากหลายและมีปัญหาต่างกัน 
      โดยปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่การพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้น จนมาถึงมาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 ก.ย. 64) ที่สถาบันการเงินกำลังเร่งทำ product program ปรับกระบวนการและนำระบบดิจิทัลมาใช้ เพื่อช่วยลูกหนี้ได้ตรงจุด รวดเร็ว และเป็นวงกว้าง 
      สำหรับมาตรการเพิ่มเติมล่าสุดที่จะออกในเดือน ต.ค. 64 จะเน้นสนับสนุนการ refinance และการรวมหนี้ (debt consolidation) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ ส่วนกรณีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง มีปัญหาในการชำระหนี้ ก็ได้จัดให้มีช่องทางแก้หนี้ผ่านคลินิกแก้หนี้ และโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ และมีแนวทางแก้หนี้ที่เป็นมาตรฐาน 
       นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำเป้าหมายการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อให้ ธปท. สามารถติดตามความคืบหน้าได้

      ในขณะเดียวกัน ธปท. ได้ประสานกับทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อรับฟังปัญหาโดยตรงจากลูกหนี้ และเป็นตัวกลางประสานความช่วยเหลือให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วย
      “ในระยะต่อไป เรายังต้องฟังเสียงจากทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อเนื่อง เพื่อลดอุปสรรคและพร้อมที่จะออกหรือปรับมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็น ทั้งนี้ ในการพิจารณาออกมาตรการ หลักสำคัญ คือ ต้องมองผลกระทบอย่างรอบด้านและดูแลให้ระบบการเงินยังเดินต่อไปได้ เพราะด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด มาตรการต้องตรงจุดมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงและเปราะบางต้องถูกผลักออกไปนอกระบบด้วย”